IoT Time To Markket  เมื่อทุกอย่าง “Thing” ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี Internet of thing รูปแบบการให้บริการจะเปลี่ยนไปเพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า

IoT Time To Markket

IoT Time To Markket ในอนาคต ข้อมูลทั้งที่อยู่ในออฟไลน์และออนไลน์จะถูกผนวกเข้าด้วยกัน จากความสามารถที่เพิ่มขึ้นนี้เองทำให้ขีดศักยภาพที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เกิดข้อมูลในด้านต่าง ๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งวันนี้ข้อมูลกลายเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทุกอุตสาหกรรม

เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน IoT จะมีความสำคัญขึ้น และเมื่อเชื่อมต่อกับเรื่องระบบ Big Data จะทำให้การจัดการข้อมูลที่เคยกล่าวไว้นั้นจะกลายเป็นเรื่องที่ทุก ๆ องค์กรจำเป็นต้องทำ เนื่องจากธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรมไม่สามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ได้

ซึ่งผลที่ตามมาคือผลกระทบที่อาจจะรุนแรงถึงขนาดที่ไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ของตลาด หรือไม่สามารถแก้ไขอุปสรรคภายในองค์กรเอง ซึ่งการใช้ประโยชน์จากการจัดการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจจะทำได้ยากในอดีต แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถเข้ามาช่วยทำการจัดการ ทำให้สามารถทำการตลาดได้อย่างละเอียด รวมถึงแก้ไขอุปสรรคภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีต

หากมองในแง่ของผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการต่าง ๆ สามารถปรับตัวด้วยการใช้ข้อมูลที่มาจากหลาย ๆ แห่งมาวิเคราะห์ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการ และช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการไม่รู้สึกติดขัดในการใช้งาน ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้มากขึ้นอีก

ยกตัวเช่น ในปัจจุบันธุรกิจค้าปลีก (Retail) เริ่มที่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจห้างร้านได้เป็นอย่างดีด้วยการเพิ่มประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกค้าในการซื้อสินค้า โดยส่งข้อมูลสินค้าไปยังสมาร์ตโฟน (Smart Phone) ของลูกค้า ส่งผลให้ธุรกิจห้างร้านมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่ในตอนนี้ระบบดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นใช้งานซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เพราะยังมีการใช้งานกับสินค้าเฉพาะกลุ่ม จึงต้องดูกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางใด

นอกจากนี้ การนำเอา IoT เข้าไปใช้ยังจะช่วยให้อุตสาหกรรมค้าปลีกสามารถบริหารจัดการกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับผู้ขายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตได้อีกด้วย (Supply Chain) โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจัดซื้อ (Procurement) การผลิต (Manufacturing) การจัดเก็บ (Storage) การจัดจำหน่าย (Distribution) ตลอดจนการขนส่ง (Transportation) ซึ่งมีผลสำคัญต่อการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับองค์กรอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ  

หรือในกรณีของผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถืออย่าง เอไอเอส ที่ได้นำเอาเรื่องของ IoT ผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่นเพื่อยกระดับงานบริการลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ชื่อ Narrow Band Internet of Things หรือ NB-IoT โดยทำงานในแบบ Low Power Wide Area Network (LPWAN) หรือการทำให้ให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือในการรับส่งข้อมูลแบบใช้พลังงานต่ำ

แตกต่างกับการใช้เทคโนโลยี Mobile Data, WiFi, Bluetooth ที่ทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง มีข้อจำกัดทางด้านระยะทาง และยังกินพลังงานสูงในการขับเคลื่อนอุปกรณ์ ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าที่ควร เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ช่วยให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ จากการส่งข้อมูล Uplink ในขนาดที่เหมาะสม จึงช่วยทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ IoT อยู่ได้นานถึง 10 ปี

นอกจากนี้ยังเดินหน้าพัฒนาต่อยอดบริการเพื่อดูแลลูกค้าในชื่อ “Ask Aunjai” Virtual Agent หรือผู้ช่วยอัจฉริยะขึ้นอีกด้วย โดยพัฒนามาจากการเชื่อมโยงเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้ง Artificial Intelligence (AI), Chatbot และ Smart Knowledge Base ทำให้สามารถตอบคำถามลูกค้าบน Online, Social Media อาทิ เว็บไซต์เอไอเอส และบน My AIS ได้ทุกคำถาม ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกค้ารู้สึกใกล้ชิด เพลิดเพลิน เหมือนได้คุยกับพนักงาน

 การนำเทคโนโลยี IoT ไปใช้ประโยชน์นั้นสามารถนำใช้ได้ในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น การนำเอาเซนเซอร์ หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ไปติดตั้งกับปลั๊ก หรือวงจรไฟฟ้าของบ้าน ก็จะทำให้บ้านกลายเป็นบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) เนื่องจากผู้อยู่อาศัยสามารถนำเอาอุปกรณ์ (Device) อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ควบคุมระบบการปิดเปิดควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ กล้องวงจรปิด หรือแม้แต่หลอดไฟในแต่ละห้องของบ้านได้

โดยล่าสุด ผลการศึกษาของจูนิเปอร์ รีเสิร์ชได้ประมาณมูลค่าของอุตสาหกรรมที่นำนวัตกรรม IoT มาใช้กับที่พักอาศัย หรือที่เรียกว่าสมาร์ตโฮมไว้ที่ 71,000 ล้านเหรียญในปี 2561 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ตโฮมมีตั้งแต่ตู้เย็น เครื่องทำความร้อน จนถึงเครื่องตรวจจับควันไฟ

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเป็นข้อดีที่ทำให้ไม่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถชี้ขาดความเป็นไปของอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งยังสามารถนำเอาอุปกรณ์เซนเซอร์ไปประยุกต์ในในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ (Healthcare) โดยประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ที่ให้ผู้ป่วยนำติดตัวไว้ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาทางด้านสุขภาพที่จำเป็นต้องมีการติดตาม

โดยเมื่อเชื่อมต่อกับโปรแกรมหรือแอพพลิเคชันที่ทำขึ้นมาเฉพาะทาง ก็จะสามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยและแพทย์ที่ดำเนินการรักษาผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการจากร้ายเป็นเบาลง และยังอาจสามารถแจ้งเตือนไปยังรถฉุกเฉินที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยที่สุดเพื่อรับตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอีกด้วย

ซึ่งหากมองในแง่ของการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ อย่างสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มีไอเดียก็สามารถสร้างระบบหรือแอพพลิเคชัน เพื่อเชื่อมโยงบริการของโรงพยาบาลได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท สตาร์ทอัพอย่าง Awarepoint ที่ใช้เซนเซอร์ IoT สำหรับการติดตามตำแหน่งที่อยู่ (Location) ของผู้ป่วยและเครื่องมือทางการแพทย์ได้อย่าง Real-Time 

ขณะที่ในส่วนสาธารณูประโภคของเมือง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ก็สามารถนำเอาเทคโนโลยี IoT เข้าไปพัฒนาให้เกิดเรื่องของเมื่องอัจฉริยะ (Smart City) ได้ ยกตัวอย่างของระบบไฟฟ้าของเมืองหรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสาร

และหากในอนาคตสามารถพัฒนามิเตอร์อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้ติดตั้งอยู่ตามบ้านหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้กลายเป็นมิเตอร์อัจฉริยะที่สามารถส่งข้อมูลปริมาณการใช้พลังงานไปยังสถานีจ่ายไฟได้ ก็จะทำให้สถานีจ่ายไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้งานในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

หรือจะเชื่อมโยงระบบกล้องวงจรปิด รวมถึงโดรน โดยอาจใช้ในการตรวจสอบทะเบียนรถที่วิ่งผ่าน รวมถึงยังสามารถติดตามรถสูญหายได้รวดเร็วขึ้น เพราะมีสัญญาณบอกตำแหน่งที่ตั้งของรถได้ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้ 

และหากมองในมุมของประเทศไทยที่การเกษตรถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ การนำเอาเทคโนโลยี IoT มาใช้ภาคการเกษตรจะช่วยให้เกิดการเติบโตของประเทศ และได้ช่วยยกระดับเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งอาจร่วมไปถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

เนื่องจากปัญหาของภาคการเกษตรคือการทำการเกษตรที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในอนาคต ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมสภาพจากสารเคมี ใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเกินความจำเป็น การตัดต้นไม้เพื่อทำพื้นที่การเกษตรโดยไม่คำนึงถึงวงจรของการเกื้อหนุนกัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศมีแต่คุณภาพตกลง เพราะเป็นการทำแบบต่างคนต่างทำ และไม่ทำอย่างเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ ซึ่งมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ซึ่งหากไม่เปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศคงไม่แคล้วมีปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน

โดยการที่จะสามารถทำให้การเกษตรของประเทศก้าวสู่การเป็นระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) คือการประยุกต์ใช้เซนเซอร์ ระบบแอพพลิเคชัน และเทคโนโลยีในการประมวลผล (Data Analysis) เพื่อให้ได้ข้อมูลของกระบวนการทำฟาร์มที่เหมาะสม ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าสู่อินเทอร์เน็ต เกษตรกรอาจจะสามารถจัดการการปลูกพืชโดยใช้เทคนิคอควาโปนิกส์ (Aquaponics) ผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ตโฟน ทั้งแบบ LAN หรือ WIFI โดยดึงข้อมูลหรือสั่งการจากระบบที่อยู่บนระบบคลาวด์ (Could) และสั่งการทำงานของอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งในฟาร์ม

นอกจากนั้น มีการพัฒนาเซนเซอร์ให้สามารถวัดความชื้นของดิน ถ้าหากความชื้นต่ำ ก็สามารถสั่งการให้ปั๊มทำงานเมื่อดินมีความชื้นต่ำตามระดับที่เรากำหนดไว้ หรือหากพบว่าแร่ธาตุในดินมีความเป็นกรด เป็นด่าง ก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น ในไร่อ้อยที่มีระบบท่อน้ำหยดใต้ดินที่มีการเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ (Real-Time Irrigation Monitoring System) จะมี Pressure Sensor ติดตั้งในท่อน้ำหยด เพื่อคอยตรวจสอบความสมบูรณ์ของท่อว่าไม่มีการรั่วไหลในท่อตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายท่อ

โดยมีการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยดนี้ ซึ่งควบคุมระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยผ่านเซนเซอร์ที่ใช้วัดความเข้มข้นของสารเคมี ทำให้การใช้ทรัพยากรน้ำและสารเคมี (ปุ๋ย) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายน้ำนั้นยังต้องได้ข้อมูลจากสภาพความชื้นในอากาศและในดิน ผ่านการส่งข้อมูลจากเซนเซอร์วัดความชื้น (Humidity Sensor) ที่ถูกติดตั้งเหนือดินและใต้ดิน ระบบ Smart Farm นั้นได้รับพลังงานไฟฟ้าจากระบบ Solar Cell Panels หรือแผงโซลาร์เซลล์ ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับระบบสื่อสาร ระบบเซนเซอร์ ปั๊มน้ำ และระบบกลไกต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อให้ประสิทธิผลในการรับแสงดีที่สุด 

และหากพูดในมุมของการคมนาคมและภาคขนส่ง (Connected Car) ก็จะสามารถใช้เซนเซอร์ในการช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ และตรวจสอบตำแหน่งในระหว่างเดินทางก็ได้ โดยติดตั้ง เซนเซอร์และอุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ากับระบบของรถ และเชื่อมต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ไม่ว่าจะเป็นระบบเส้นทางดาวเทียม หรือกล้องวงจรปิด หรือแม้แต่อุปกรณ์ภายในตัวรถเอง ทำให้ได้ข้อมูลจากหลาย ๆ แห่ง

ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับฐานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ก็จะส่งผลให้รถยนต์สามารถติดต่อสื่อสารกับสิ่งอื่น ๆ ได้เองอัตโนมัต และแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ในอนาคตเราอาจจะได้ยินเสียงรถยนต์เตือนว่าอีก 500 เมตรกำลังจะมีคนข้ามถนน หรือในอีก15 วินาที ไฟสี่แยกกำลังจะเปลี่ยนเป็นสัญญาณให้หยุด และข้อมูลเหล่านั้นก็จะส่งมาที่รถเพื่อสั่งให้รถชะลอ หรือสั่งให้เบรกก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม เรื่อง Connected Car ก็ยังมีการปรับตัวที่ช้ากว่ารูปแบบอื่น เนื่องจากวงรอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์จะต้องใช้เวลาประมาณ 2-4 ปี ทำให้การพูดถึงในเรื่องนี้ยังมีไม่มากนัก ในส่วนของ BMW และ Ford ก็ยังไม่ได้ประกาศออกมาเป็นรูปร่างมากนัก ถึงแม้ทาง Google, Microsoft และ Apple ได้ประกาศเปิดตัวฟอร์มสำหรับ Connected Car กันไปบ้างแล้ว

ติดตามเรื่องอื่นเกี่ยวกับ IoT ได้ ที่นี่