Big Data

Big Data เทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมาช้านาน ประเทศไทยเรานั้นพึ่งจะนำมาปรับใช้ได้ไม่นานนัก โดยเป็นเทคโนโลยีที่เก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ไว้ในที่ที่หนึ่ง แล้วใช้อีกเทคโนโลยีผนวกเข้าไปเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล กลั่น และสกัด เอาคุณค่าออกมาจากข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเกินขอบเขตหรือขีดจำกัดของการจัดการข้อมูลแบบเดิม ๆ

ใน Smart City เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างมีความอัจฉริยะมากขึ้น นอกจากจะสื่อสารกับมนุษย์แล้ว ยังติดต่อสื่อสารหากันเองระหว่างอุปกรณ์ได้ บนโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตที่มีความรวดเร็วที่ต้องสามารถรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นได้

มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน เมื่อสิ่งต่าง ๆ เชื่อมต่อถึงกัน ความสำคัญมาอยู่ที่การนำข้อมูลมหาศาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี Big Data Analytics เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ต่อไป

ความจริงแล้วหน่วยงานหลายภาคส่วนได้เริ่มจัดการกับข้อมูลปริมาณมากกันมานานแล้ว โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ เมื่อต้องการวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึก จำเป็นต้องนำข้อมูลดิบมาตกผลึกให้เกิดเป็นรูปแบบของข้อมูลที่เกิดประโยชน์

ซึ่งในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ นอกจากปริมาณข้อมูลที่มากแล้ว ยังมีความหลากหลายของรูปแบบข้อมูล จากเดิมข้อมูลมีลักษณะรูปแบบที่แน่นอน มีแหล่งที่มาจากระบบภายในหน่วยงานเท่านั้น แต่ปัจจุบันแหล่งข้อมูลไหลมาจากรอบทิศ อย่างสื่อสังคมออนไลน์ Blog สาธารณะต่าง ๆ แหล่ง

ข้อมูลเหล่านี้นับวันยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดข้อมูลใหม่ทุกเสี้ยววินาที เทคโนโลยีใหม่จึงต้องสามารถรองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมากที่มีหลากหลายรูปแบบ มาจากหลายแหล่งข้อมูล แถมยังต้องประมวลผลได้อย่างรวดเร็วทันความต้องการของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

การประมวลผลข้อมูล สิ่งสำคัญต่อการก้าวสู่ Smart City

ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะ เรามักหมายถึงระบบที่ใช้ข้อมูลของผู้อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเซนเซอร์หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลที่ติดตั้งเอาไว้รอบเมือง ทุกครั้งที่เราออกไปบนท้องถนนโดยพกสมาร์ตโฟนไปด้วย เราก็ได้สร้างข้อมูลขึ้นมาแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้กำลังใช้สมาร์ตโฟนนั้นอยู่

โครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผล เราเดินทางมาจากไหนและกำลังจะไปที่ไหน ด้วยความเร็วเท่าไร ใช้รถเมล์หรือรถไฟ กำลังรถติดอยู่หรือไม่ เพื่อที่เมืองจะสามารถจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เมืองอัจฉริยะก็ยังมีระบบอย่างการสอดแนมด้วยกล้องวงจรปิด (CCTV) ระบบวิเคราะห์ใบหน้า ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ ระบบเหล่านี้สร้างข้อมูลขึ้นมา แม้ว่าเราจะไม่ได้กำลังพกพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ แค่สัญจรอยู่บนท้องถนนเราก็ป้อนข้อมูลบางอย่างให้กับระบบแล้ว

Phuket Smart City เริ่มนำ Big Data มาใช้พัฒนาเมือง

วันนี้โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Internet of Things การพัฒนานวัตกรรมการควบคุมแบบ Machine to Machine รวมทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทต่อชีวิตเราครอบคลุมไลฟ์สไตล์ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน เมื่อเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับไลฟ์สไตล์มนุษย์ ก็จะเกิดการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมในบริบทที่กว้างกว่าเดิม

ดังนั้น สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ที่แท้จริงนั้นจะต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูล และใช้งานประโยชน์จากข้อมูลได้มีประโยชน์มากที่สุด โดยครอบคลุมทั้งเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าออกเมือง หรือการเดินทางภายในเมือง การเข้าพักที่พักอาศัย รวมถึงการพัฒนารูปแบบของการทำธุรกิจที่ตรงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

และเนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มากจนเกินไป และมีปริมาณของนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสร้างระบบในการตรวจสอบ ป้องกัน และพัฒนาระบบการขนส่งให้เป็นระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อให้เกิดการใช้งานพลังงานอย่างคุ้มค่า ก่อนก้าวเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่น ๆ ของประเทศได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน Phuket Smart City หรือ โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ดำเนินโครงการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยจัดการข้อมูลเมือง

โดยในเฟสแรกจะเป็นการใช้เซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ทั่วเกาะ เก็บข้อมูลต่าง ๆ ภายในเมืองให้มากที่สุด จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนที่สองในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อพาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แล้วจึงนำข้อมูลนั้นไปพัฒนาให้เมืองกลายเป็น Smart City อย่างเต็มตัว

ไม่ว่ายุคไหน ๆ เทคโนโลยีก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งบิ๊กดาต้า ถึงแม้จะเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยนั้นกำลังค่อย ๆ นำไปปรับใช้มากขึ้น ทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง รวมทั้งภาครัฐ นั่นแปลว่าเทคโนโลยีนี้กำลังจะได้รับความนิยมมากขึ้นในไทย