ไทยน้ำทิพย์
ปัจจุบัน หลายองค์กรในประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับยุคที่ Digital Transformation ที่เข้ามามีส่วนปฏิวัติสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกแวดวงอุตสาหกรรม ด้วยการมุ่งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม มาใช้ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์โคคาโคล่า ที่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์มากว่า 50 ปี เมื่อถึงยุคที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้ต้องมองหาเครื่องมือหรือโซลูชั่นที่จะช่วยสนับสนุนการทำงาน เพิ่มขีดความสามารถ ลดปัญหาการทำงานของพนักงาน และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

ที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์ประสบปัญหาด้านเวลาในการขนส่งสินค้าจากโรงงงานผลิต ไปยังศูนย์กระจายสินค้าของแต่ละภูมิภาค รวมทั้งยังต้องกระจายสินค้าต่อไปยังร้านค้าหลายแสนราย รวมถึงปัญหาเรื่องคนขับรถ เมื่อมีการย้ายออก ทำให้ต้องอบรมพนักงานใหม่ตลอดในเรื่องของเส้นทาง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านเวลาอยู่บ่อยครั้ง

ทั้งนี้ ความสำคัญของธุรกิจการขนส่งคือการบริหารจัดการเส้นทางเดินรถให้สามารถกระจายสินค้าออกไปยังลูกค้า หรือผู้บริโภคได้ทันเวลา และแม่นยำ พร้อมกับความสามารถในการบริหารต้นทุนการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากความเสียหายของต้นทุนการขนส่งถือเป็นต้นทุนสำคัญที่สามารถสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับธุรกิจ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้สามารถควบคุมดูแลงานขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักการสำคัญของระบบการขนส่ง คือ “การถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย ถูกต้อง และทันเวลา”

สิ่งที่บริษัทนี้เลือกใช้คือ การติดตั้งโซลูชัน GPS ติดรถ และ POD Application ของ NOSTRA ทำให้บริษัทฯ มีเครื่องมือที่จะใช้ติดตามรถทุกคันในแต่ละวัน ดูความคืบหน้าของทีมงาน หรือคาดการณ์ระยะเวลาในการทำงานได้แม่นยำ

เมื่อเจออุปสรรค สามารถวางแผนแก้ไขได้ทันการณ์ สามารถลงลึกไปถึงการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน และการใช้ทรัพยากร ส่งผลให้ทำงานได้ดีขึ้น รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถที่จะรู้ได้ว่าเส้นทางที่จะไปเป็นอย่างไร ตำแหน่งที่จะนำทางไปยังร้านค้า แทนที่จะใช้การจดจำตำแหน่งหรือเส้นทางเหมือนแต่ก่อน

อีกทั้งเมื่อองค์กรมีการเติบโตขึ้น รับพนักงานใหม่เข้ามาก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้ สนับสนุนการติดตามไปทุกที่ที่มีลูกค้าอยู่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

สิ่งสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดผลสำเร็จ อีกประการหนึ่งคือการสื่อสารกับผู้ใช้ นั่นคือ พนักงานกระจายสินค้ากว่าพันคน ผู้เป็นกำลังสำคัญซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นเก่าที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี แต่คนกลุ่มนี้ต้องเรียนรู้และใช้งาน

องค์กรต้องสื่อสารออกไปให้ชัดเจนว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ไม่ใช่ “การจับผิด” แต่เข้ามา “ช่วยสนับสนุน” เหมือน “กระจกมองหลัง” ทำให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้น รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้องค์กรเติบโตและแข็งขันต่อไปได้ในอุตสาหกรรม