เทคโนโลยี IoT จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูล โดยต้องคำนึงถึงความรวดเร็วและมีความแม่นยำ

เทคโนโลยี IoT

 

ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบบเสมือนจริงกับโลกดิจิทัล (Immersive Communications), Internet of Things (IoT) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือระบบอัตโนมัติต่าง ๆ นั้นมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในโลกของการสื่อสาร

โดยรูปแบบการสื่อสารเหล่านี้ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงาน การใช้ชีวิตของคนทั่วไป อีกทั้งยังก่อให้เกิดความต้องการใหม่ ๆ บนโครงข่าย ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในการเข้าถึงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ วิดีโอ หรือคอนเทนต์ที่หลากหลายเหล่านี้ ได้เพิ่มมิติและขนาดข้อมูลในโลกของการสื่อสาร

อีกทั้งยังก่อให้เกิดช่องว่างสำหรับภัยคุกคาม รวมไปถึงความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้โครงข่ายสื่อสารข้อมูลยุคใหม่ต้องมีความสามารถที่มากขึ้น นอกเหนือจากการทำงานและประมวลผลได้เร็วขึ้น

โนเกียเบลล์แล็บส์ (Nokia Bell Labs) ได้คาดการณ์อัตราข้อมูล IP ที่วิ่งในโครงข่ายสื่อสารจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 330 เอ็กซาไบต์ต่อเดือนภายในปี 2565 โดยอัตราเติบโตรวมต่อปีอยู่ที่ 25% และอัตราข้อมูลสูงสุด (Peak Data Rate) จะเติบโตเร็วกว่าเดิมถึงเกือบ 40% ต่อปี

การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสตรีมมิ่งความละเอียดสูง รวมถึงเทคโนโลยีล่าสุด การสื่อสารแบบเสมือนจริง (Virtual Reality) ผนวกกับการถือกำเนิดขึ้นของโครงข่ายความเร็วสูงที่นอกเหนือไปจากเชื่อมโยงผู้คนต่าง ๆ แล้วยังรวมไปการเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์อีกด้วย ทั้งนี้โนเกียเบลล์แล็บส์ คาดการณ์ว่าจะมีอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตถึง 100,000 ล้านชิ้นภายในปี 2568

อินเทอร์เน็ตที่ชาญฉลาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น

สำหรับ Routing Platform ใหม่บนเทคโนโลยี FP4 โนเกียได้ผสานขีดความสามารถและสมรรถนะเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ทั้งทัศนวิสัย (Visibility) ของข้อมูลต่าง ๆ ในโครงข่ายแบบเชิงลึก ระบบการควบคุมที่ละเอียดรัดกุม การวัดและส่งข้อมูลทางไกล (Telemetry) และการรักษาความปลอดภัย

คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้แน่ใจได้ว่าระบบเครือข่ายที่ทันสมัยของบริษัทผู้ให้บริการด้าน Webscale และผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านข้อมูล ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง และปรับขยายระบบให้สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัย ทั้งในส่วนของคลาวด์ 5G และ เทคโนโลยี IoT

เทคโนโลยีด้าน Packet Intelligence และระบบควบคุมเวอร์ชันปรับปรุงใหม่ที่ฝังอยู่ใน FP4 เมื่อผสานกับโซลูชัน Deepfield IP Network Analytics ของโนเกียและกลุ่มผลิตภัณฑ์ SDN ที่หลากหลายและครอบคลุม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสได้ถึงระดับสูงสุด

ในขณะเดียวกันยังลดและบรรเทาความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการโจมตีข้อมูลแบบ DDoS ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่กำลังขยายตัวทั้งในแง่ปริมาณและผลกระทบในแต่ละปี ตามรายงานการคาดการณ์ TMT ของ Deloitte Global คาดว่าจะมีการโจมตีมากกว่า 10 ล้านครั้ง ในปี 2560

อ่านเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับ IoT