ถึงแม้เทคโนโลยี IoT จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบของธุรกิจ แต่สิ่งที่ต้องคำนึกคือความไม่ปลอดภัยที่มาควบคู่กัน คำถามคือเราพร้อมรับมือกับปัญหานี้แค่ไหน 

จากการคาดการณ์ของ Gartner ที่ว่าจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากถึง 25 พันล้านเครื่องภายในปี 2563 สร้างความกังวลแก่ผู้คนไม่น้อยว่า ความสะดวกสบายที่จะได้มา โดยเฉพาะจากอุปกรณ์ IoT ทั้งหลายนั้น จะกระทบกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หรือเราพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ขนาดไหนแล้ว

มีการศึกษาจากสถาบัน Ponemon ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Trend Micro เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวทั่วโลก โดยมีมากกว่า 1,500 คนในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในการศึกษาปัญหาทั้งด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย รวมทั้งแบ่งปันความรู้สึกที่มีเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวที่อ่อนไหวต่าง ๆ

โดยเฉพาะการตีมูลค่าข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง แม้ท่านอาจยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญหรือผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเหล่านี้ก็ตาม แต่ก็ควรเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวอันมีค่าของท่านหรือองค์กรของท่านจะได้ไม่รั่วไหลง่ายและรวดเร็วเพียงกะพริบตาเท่านั้น

ความปลอดภัยในยุค Internet of Things

กับยุคอนาคตแบบชีวิตที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนที่มาจากการนำอุปกรณ์จำนวนมหาศาลมาใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกมากมายในชีวิตประจำวันหรือแม้แต่ในโลกอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ตอนนี้ก้าวบุกเข้ามาในชีวิตส่วนตัวของทุกคนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้คำว่า “อัจฉริยะ (Smart)” เป็นคำขยายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน สมาร์ตทีวี ตัวควบคุมเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านต่าง ๆ ไปจนถึงเครื่องปิ้งขนมปังอัจฉริยะ และระบบความปลอดภัย จนเรียกได้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในยุคนี้ถูกพัฒนาให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทั้งสิ้น จนแทบจะเรียกว่าเป็น “Internet of Everything” เลยทีเดียว

ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้นความเสี่ยงของการรั่วไหลข้อมูลส่วนตัว หรือการสูญเสียความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว การพัฒนาระบบความปลอดภัยให้ไล่ตามทันถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง จากผลการศึกษานี้พบว่า ผู้บริโภคกว่า 47% เป็นกังวลมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้อุปกรณ์พกพาจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ การแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวให้แก่องค์กรหรือเธิร์ดพาร์ตี้อื่นมากขึ้น การใช้อุปกรณ์พกพาสำหรับธุรกรรมทางการเงิน การใช้บริการที่ต้องระบุตำแหน่งที่ตั้งของตนเอง ไปจนถึงความวิตกกังวลในเหตุการณ์ต่าง ๆ

ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ หรือการพบเห็นตัวอย่างคนที่โดนขโมยข้อมูลส่วนตัวไปใช้ประโยชน์ หรือแม้แต่การที่ตัวเองเคยตกเป็นเหยื่อเองด้วย

อย่างไรก็ดี สัดส่วนคนที่ตระหนักถึงความเสี่ยงนี้แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประเทศ และโดยรวมยังก้ำกึ่งว่าประโยชน์ที่ได้จาก IoT จะคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหรือไม่

ข้อมูลส่วนตัวที่เชื่อว่าอุปกรณ์ IoT มีการเก็บบันทึกไว้ และมีความเสี่ยงที่จะหลุดรั่วไปได้นั้น เรียงตามลำดับมากไปน้อย ได้แก่ ที่อยู่อีเมล, ที่อยู่ที่พักอาศัย, ชื่อ, ตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันหรือข้อมูล GPS, ประวัติการท่องอินเทอร์เน็ต, เพศสภาพ, ข้อมูลทางการเงิน, ภาพและวิดีโอ, รายชื่อเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว, เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

แล้วถ้าจะขายข้อมูลส่วนตัวล่ะ ?

นั่นหมายถึงการที่ตลาดตีราคาของข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของคุณ ซึ่งจากผลสำรวจนั้น กว่า 56% ยอมแบ่งปันข้อมูลให้กับเธิร์ดพาร์ตี้ที่เชื่อถือได้ ถ้าได้สิ่งตอบแทนที่คุ้มค่า โดยเฉพาะเงิน ส่วนประเภทข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ตีราคาว่าแพงที่สุดคือ รหัสผ่านต่าง ๆ

โดยมีราคาอยู่ที่ 75.80 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาได้แก่ ข้อมูลสุขภาพและประวัติทางการแพทย์ (59.80 ดอลลาร์สหรัฐ) เลขประจำตัวประกันสังคม (55.70 ดอลลาร์สหรัฐ) ข้อมูลทางการเงินและการชำระเงิน (36.60 ดอลลาร์สหรัฐ) ประวัติการซื้อขาย (20.60 ดอลลาร์สหรัฐ) ตำแหน่งที่ตั้งต่าง ๆ (16.10 ดอลลาร์สหรัฐ) ที่อยู่บ้าน (12.90 ดอลลาร์สหรัฐ) ภาพและวิดีโอของตัวเอง (12.20 ดอลลาร์สหรัฐ) สถานภาพการสมรส (8.30 ดอลลาร์สหรัฐ) และชื่อกับเพศสภาพ (2.90 ดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ

กลัวอะไรมากกว่ากัน ระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความปลอดภัย ?

จากผลสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่กลัวเรื่องความปลอดภัยมากกว่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในการใช้ IoT และสังคมออนไลน์ นั่นคือคนจะระแวงระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าเป็นสาเหตุของข้อมูลรั่วไหลมากกว่ากังวลว่าข้อมูลที่แบ่งปันให้แก่องค์กรและบริการต่าง ๆ จะถูกแบ่งปันจนไม่มีความเป็นส่วนตัว ดังนั้นการให้ความสำคัญจึงมุ่งเน้นที่ชนิดอุปกรณ์ “สมาร์ต” ทั้งหลายว่าอุปกรณ์ใดเสี่ยงมากหรือน้อย

ซึ่งคนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใช้อุปกรณ์อัจฉริยะจากมากไปน้อยดังต่อไปนี้ คือ Google Glass, ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ, อุปกรณ์ตรวจสภาพร่างกาย เช่น การวัดชีพจนขณะออกกำลังกาย, ตัวควบคุมอุปกรณ์ปรับอุณหภูมิภายในบ้าน, เครื่องใช้ในครัวแบบอัจฉริยะ, ตัววัดการใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ, และสมาร์ตทีวี ตามลำดับ โดยคนยังเลือกใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตอยู่

มาถึงบทสรุป การรับมือที่ดีที่สุดคือการมองหาโซลูชันความปลอดภัยแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถหนียุคที่ข้อมูลไร้พรมแดนไปได้พ้น ด้วยสารพัดอุปกรณ์นับล้านที่จ้องจับความเคลื่อนไหวของคุณทุกฝีก้าว หรือแม้แต่การดำรงชีวิตที่เอาตัวเองเข้าไปสู่เครือข่ายสังคมที่แชร์ข้อมูลไปสู่ผู้คนทั่วโลกนับล้านได้ภายในเสี้ยววินาทีผ่านสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการใช้ระบบความปลอดภัยที่ครอบคลุมทุกอุปกรณ์ที่ใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์พกพาที่เราใช้งานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปัจจุบันไปแล้ว การทำตามแนวปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัย เช่น การอัพเดตอุปกรณ์จากผู้ผลิตโดยตรงอย่างสม่ำเสมอ การไม่โหลดแอพฯ หรือโปรแกรมจากแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ

เช่น การโหลดแอพฯ เถื่อนนอก Google Play หรือ App Store หรือแม้แต่การเลือกใช้โซลูชันความปลอดภัยจากผู้จำหน่ายที่ได้รับความน่าเชื่อถือในท้องตลาด เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่ชนิดหรือมูลค่าของข้อมูลส่วนตัวไหนที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์บ้าง แต่เป็นความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ทำให้คุณไม่รู้ตัวว่าทำข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลไปมากน้อยแค่ไหนแล้วต่างหาก