ด้วยเหตุที่องค์กรต้องการลดต้นทุนในการสร้าง Data Center ผู้ให้บริการจำเป็นต้องออกแบบให้เข้ากับโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ จึงเกิดเป็นรูปแบบของศูนย์ข้อมูลสมัยใหม่

Data Center

ในปัจจุบันรูปแบบของการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ จากที่เราเคยเห็นเป็นตู้ใหญ่ ๆ ภายในสำนักงาน ได้เปลี่ยนรูปแบบไป เพื่อรองรับการนโยบายสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านพลังงาน นโยบายด้านพื้นที่ และต้องรองรับกับภัยภิบัติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้การออกแบบจะต้องคำนึงถึงเหตุผลที่หลากหลายมากกว่าเดิม

Modular Data Center

หนึ่งในการออกแบบของดาต้าเซ็นเตอร์ที่กำลังได้รับความนิยม เพราะมีความรวดเร็วในการสร้าง ซึ่งตอบสนองความต้องการของได้เป็นอย่างดี  โดยการทำรูปแบบนี้สามารถทำได้จากโรงงาน จากนั้นลูกค้าค่อยเข้ามาทดสอบที่โรงงาน และนำไปติดตั้งในองค์กรนั้น ๆ โดยการออกแบบชนิดนี้ จะถูกออกมาให้ใช้ต้นทุนที่น้อยที่สุด สามารถจะขยายได้เพียงแค่ต่อ Modular เพิ่มเข้าไป  ซึ่งถ้าเทียบกับการสร้างแบบเดิม รูปแบบใหม่นี้สามารถประหยัดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง และประหยัดเวลาได้อย่างมาก

ดาต้าเซ็นเตอร์ใต้น้ำ

ถึงจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่การออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าว อาจจะได้รับความนิยมมากในอนาคต เพราะขจัดปัญหาในเรื่องพื้นที่และความร้อน  โดยล่าสุด บริษัทไมโครซอฟท์มีโปรเจ็กต์พัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ใต้น้ำที่ชื่อว่า Project Natick ซึ่งเป็นโครงการวิจัยในการนำ Cloud Infrastructure ลงไปติดตั้งใต้ทะเล เพื่อลดการใช้พลังงานในการควบคุมความร้อนจากดาต้าเซ็นเตอร์โยการใช้ระบบระบายความร้อนจากน้ำ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงไปได้

Data Center

โดยไมโครซอฟท์ได้นำดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าวไปทดสอบติดตั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากชายฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ความลึก 30 ฟุต ซึ่งในการทดสอบนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเผยรายละเอียดอีกว่า แคปซูลนี้สร้างด้วยวัสดุที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่ออยู่ใต้น้ำได้ประมาณ 5 ปี จะถูกนำขึ้นมาเพื่อทำการเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ตัวใหม่ และสามารถนำกลับลงไปใต้น้ำได้อีกครั้ง โดยอายุขัยของแคปซูลนี้จะอยู่ได้ประมาณ 20 ปี ก่อนจะถูกนำไปรีไซเคิล

 

ใช้ AI ตรวจสอบแทนมนุษย์

ที่ผ่านมาการดูแลรักษาดาต้าเซ็นเตอร์คือ Monitoring ระบบต่าง ๆ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบว่าระบบใดหยุดทำงานหรือไม่ตอบสนองบ้าง แล้วจึงแจ้งไปยังผู้ดูแลระบบให้มาจัดการกับปัญหา ซึ่งต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะรู้

แต่ในปัจจุบัน เกิดการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์แนวโน้มต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนปัญหาจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งแนวทางนี้เองที่เรียกกันว่าการทำ Proactive Management ซึ่งส่งผลให้ Uptime ของดาต้าเซ็นเตอร์ในปัจจุบันนั้นมีแนวโน้มที่จะยืนยาวยิ่งกว่าแต่ก่อน เพราะผู้ดูแลระบบสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ล่วงหน้าได้ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นจริง

และไม่เพียงแต่ในเชิงของการดูแลรักษาดาต้าเซ็นเตอร์ให้มี Uptime สูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเท่านั้น แต่การจัดการให้ดาต้าเซ็นเตอร์สามารถทำงานได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งโจทย์นี้ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นมากกว่าแต่ก่อนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การทำระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบโดยรวมและลดต้นทุนได้ ด้วยจุดนี้เองจะเป็นจุดที่เหล่าธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ต้องนำมาใช้ในการแข่งขันมากขึ้นในอนาคต รวมถึงเหล่าผู้ให้บริการออกแบบและสร้าง ดาต้าเซ็นเตอร์เองนั้นก็จะต้องเริ่มมองถึงคุณค่าจากการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์และนำเสนอต่อลูกค้าหรือองค์กรต่าง ๆ

ด้วยความต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ที่สูงขึ้นทุกวัน การคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ทั้งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการก้าวไปสู่อนาคต อีกไม่นาน เราอาจได้เห็นการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น