ฟินเทคเป็น Digital Disruption ของภาคการเงินในปี 2560 แต่ในปี 2561 ธนาคารกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่ในการก้าวสู่ดิจิทัล โดย Unmanned Banking เป็นบิ๊กเวฟที่จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธนาคาร

Unmanned Banking

ช่วงปีที่ผ่านมา FinTech Startup” เป็นหนึ่งในกระแสที่มีการพูดกันบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะผลกระทบของ FinTech Startup ที่มีต่อภาคการเงินและธนาคารพาณิชย์ ถึงขนาดที่กูรูการเงินหลายคนฟันธงว่า FinTech Startup จะทำให้ธุรกิจธนาคารต้องเผชิญกับผลกระทบครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการปรับตัวและมีโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาเพื่อผูกพันธมิตรกับบรรดา FinTech Startup ทั้งการตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าลงทุนในบริษัท FinTech Startup หรือการจัดตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาและสร้าง FinTech Startup ขึ้นมาด้วยตัวเอง

ด้วยความแข็งแกร่งด้านเงินทุนและความได้เปรียบในด้านฐานข้อมูลลูกค้า โมเดลของ FinTech Startup และธนาคารพาณิชย์จึงอออกมาในรูปแบบของน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จร่วมกัน FinTech Startup จึงมีความน่ากลัวลดลงใจสายตาของธนาคารและสถาบันการเงิน จากที่เคยเป็นภัยคุกคามก็เปลี่ยนเป็นพันธมิตรที่มีเป้าหมายธุรกิจเดียวกัน คือ การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

แต่กระนั้นความท้าทายของธนาคารในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานก็ยังคงเป็นความท้าทายของธนาคารที่ต้องได้รับการแก้ไข

ยุคความยิ่งใหญ่ที่จำนวนสาขาและพนักงาน

ที่ผ่านมาธนาคารของไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปีนั้นได้ผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคของทรัสต์เถื่อนจนถึงยุคเฟื่องฟูสุดขีดในช่วงที่ฟองสบู่ของเศรษฐกิจไทยเบ่งบาน ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ธนาคารหลายแห่งต้องปิดกิจการ ควบรวมกิจการ และขายหุ้นใหญ่กับผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ จนถึงยุคที่ธนาคารนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่มีผลสืบเนืองมาถึงปัจจุบัน

แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น ปัจจัยที่เป็นเครื่องชี้วัดสำคัญอันหนึ่งของธุรกิจธนาคาร คือ จำนวนสาขาและการเข้าถึงฐานลูกค้า ยิ่งธนาคารที่มีสาขาเยอะยิ่งมีโอกาสเข้าถึงประชาชนได้เยอะ ก็จะมีขนาดของฐานเงินฝากที่ใหญ่ ยุคหนึ่งสาขาของธนาคารจึงถูกมองเป็นตัวแปรของความสำเร็จ จนเกิดเป็นยุคที่ธนาคารแย่งกันเปิดสาขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงก่อนยุคของอินเทอร์เน็ตแบงกิง และโมบายแบงกิง

ผลจากการแข่งขันดังกล่าว ทำให้ธนาคารชั้นนำล้วนแล้วแต่มีสาขาจำนวนมาก และแน่นอนว่ามีจำนวนพนักงานที่มากไปด้วย ซึ่งยุคหนึ่งเป็นความแข็งแกร่งอย่างมาก แต่ในยุคของดิจิทัล ความแข็งแกร่งดังกล่าวเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นจุดอ่อน เพราะจำนวนคนที่มากและสาขาที่มากกลายเป็นต้นทุนที่สูงและค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย ซึ่งแข่งขันได้ยากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ FinTech Startup ที่มีขนาดเล็ก คล่องตัว มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ต่ำ แต่ใช้ดิจิทัลมาช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากได้เช่นกัน

ยุคของธนาคารบนมือถือ

ช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาเป็นปีสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธนาคารสู่โมบายแบงกิง ด้วยเทคโนโลยีที่มีความพร้อม เครือข่าย 3G 4G สมาร์ตโฟนที่ฉลาดขึ้น และการพัฒนา User Interface ที่ทำให้การใช้งานโมบายแบงกิงทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิงเติบโตอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้ธนาคารเริ่มมีความคิดในการลดจำนวนสาขาลง ปี 2559 จึงเป็นปีแรกที่ภาพรวมของธุรกิจธนาคารมีการลดจำนวนสาขาลง และนายธนาคารส่วนใหญ่เชื่อว่าธนาคารจะทยอยลดสาขาลงอย่างต่อเนื่องในปี 2560 และ 2561

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ให้ข้อมูลว่า 2559 เป็นปีแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำขออนุญาตปิดสาขาธนาคารพาณิชย์มากกว่าขออนุญาตเปิดสาขา สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงินที่พยายามจะลดต้นทุนการให้บริการ และแน่นอนว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในการลดต้นทุนดังกล่าว

ข้อมูลที่น่าสนใจจากธนาคารกสิกรไทยระบุว่า ธุรกรรมจากมือถือเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลครึ่งปีแรก 2559 ระบุว่า Mobile Banking ของธนาคารมีการเติบโตกว่า 140% มีปริมาณการทำธุรกรรมรวมกว่า 668 ล้านรายการ มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคน และมีมูลค่าธุรกรรมรวมกว่า 1,870 ล้านล้านบาท

ขออุบไว้เท่านี้ก่อนแล้วกันครับ  เพราะเนื้อหาอาจจะหนักไปสักนิดหน่อย ในตอนหน้า จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับยุคที่ของธนาคารที่ใช้ AI ในการให้บริการมนุษย์ โดยเป็น 100 % ของบริการทั้งหมด