AI

ยิ่งเทคโนฯ ก้าวไกล องค์กรยิ่งชาญฉลาด แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของภาวะผู้นำแบบใหม่ องค์กรต่างๆใช้เอไอ (AI) สร้างการเติบโตและทำบประโยชน์ให้สังคมได้ ผ่านการประสานความร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรใหม่ๆ

AI สร้างการเติบโต และทำประโยชน์ให้สังคมได้

เอคเซนเชอร์ เผย รายงานเทคโนโลยี วิชั่น ในปีนี้เรื่อง Intelligent Enterprise Unleashed: Redefine Your Company Based on the Company You Keep ซึ่งกล่าวถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือระบบอนาลิติกส์ขั้นสูง และคลาวด์

ว่าไม่เพียงมีส่วนช่วยในการพัฒนานวัตกรรมของสินค้าและบริการขององค์กร แต่ยังเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงาน และการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย ในทางกลับกัน ก็เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในแนวทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และพันธมิตรต่าง ๆ ด้วย
 
เทรนด์ต่าง ๆ ในเทคโนโลยี วิชั่น ส่วนหนึ่งได้มาจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ 6,300 คนทั่วโลก พบว่าผู้บริหารกว่า 4 ใน 5 (ร้อยละ 84) เห็นพ้องว่าเทคโนโลยีคือปัจจัยช่วยกรุยทางให้องค์กรเข้าถึงและแทรกซึมไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนอย่างแนบเนียน
 
ตัวอย่างเช่น อะเมซอน ที่ไม่เพียงมีฐานธุรกิจออนไลน์ขนาดใหญ่มหาศาล แต่ยังมีอุปกรณ์ Echo และเทคโนโลยีเอไอ Alexa เข้ามาช่วย สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้คน จนถึงระดับที่ผู้พัฒนาสามารถสร้างล็อคเกอร์เฉพาะสำหรับอะเมซอนเอาไว้ที่อพาร์ตเมนต์

และให้บริษัทติดต่อที่บ้านได้ผ่านระบบสมาร์ทล็อก กิจการขนส่งต่าง ๆ สามารถนำสินค้ามาส่งไว้ได้ในเวลาที่ไม่มีคนอยู่

AI

นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้เข้าไปอยู่ในทุกภาคส่วนของชีวิตเราและกำหนดทิศทางของสังคมให้เปลี่ยนไป สมัยก่อนเมืองต่าง ๆ ก่อกำเนิดขึ้นและขยายตัวจากท่าเรือและรางรถไฟ วิถีชีวิตคนได้เปลี่ยนไปเมื่อมีไฟฟ้า

โลกทุกวันนี้ก็เหมือนกันที่มีการปรับตัวไปตามนวัตกรรมด้านดิจิทัล องค์กรที่ปรับตัวได้ ก็ต่อยอดการให้บริการได้เช่นกัน แต่ก็ต้องมีการประสานความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นความน่าเชื่อถือและการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากระหว่างกัน

โดย รายงาน เทคโนโลยี วิชั่น ยังชี้ให้เห็นว่ายุคแห่งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีล่าสุดนั้น ค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ เพราะเป็นครั้งแรกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากทั้งสองทาง คนที่ไม่เพียงแต่ใช้สินค้าและบริการขององค์กรเท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลกลับมายังองค์กรด้วย การที่ “ข้อมูลผสานกันอย่างครบวงจร”

และมีความไว้วางใจต่อกันระหว่างผู้บริโภคกับองค์กรนั้น ต้องอาศัยความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกว่าเดิม หมายความว่ามีความร่วมมือกันจริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสินค้าของบริษัทเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะต่างก็มีเป้าหมาย และค่านิยมร่วมกัน ซึ่งในความสัมพันธ์แบบสองทางเช่นนี้พื้นฐานสำคัญ

คือความรับผิดชอบที่องค์กรต้องมีต่อทั้งลูกค้า พันธมิตรธุรกิจ และสังคมในวงกว้างซึ่งต้องการผู้นำในแนวใหม่และการมีพันธสัญญาในเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับบนลงมา องค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ความคาดหวังทางสังคมเหล่านี้ สามารถแปรให้เป็นจุดแข็งขององค์กรได้โดยใช้ปฏิสัมพันธ์ที่มากขึ้น

การสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า พนักงาน รัฐบาล และสาธารณชน ที่ก้าวไปไกลกว่าเรื่องของผู้บริโภคหรือการค้า ยกตัวอย่างเช่น เทสล่า ที่มีความร่วมมือกับรัฐบาลในการจัดทำแนวทางที่จำเป็นต่อรถขับขี่อัตโนมัติให้เร็วขึ้น ส่วนซีเมนส์ ก็มีระบบปฏิบัติการ MindSphere สำหรับอุปกรณ์ไอโอทีต่างๆ

ช่วยให้สามารถนำไปใช้กับสินทรัพย์ชนิดต่างๆ เช่น อุปกรณ์การผลิต อุปกรณ์สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือโรงไฟฟ้า เหล่านี้ได้ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ๆ และสามารถทำให้องค์กรของตนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานของพันธมิตรธุรกิจในหลายๆ ส่วนด้วย

ซึ่งเทรนด์เทคโนโลยีมาแรง 5 ด้าน ที่องค์กรควรให้ความสำคัญ เพื่อสร้างพันธมิตรและประสานความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในโลกแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน ได้แก่

AI

สังคมแห่งเอไอ (Citizen AI): เสริมบทบทบาทของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ที่มีต่อธุรกิจและสังคมให้มากขึ้น ยิ่งเอไอมีศักยภาพมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งส่งผลต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้นเท่านั้น องค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเอไอให้มีประสิทธิภาพที่สุด

ต้องตระหนักถึงผลกระทบของเอไอด้วย โดยควร “ยกระดับ” เอไอให้มีฐานะเป็นเสมือนตัวแทนองค์กรที่ปฏิบัติการอย่างมีความรับผิดชอบต่อภาคส่วนต่าง ๆ

โลกเสมือนผสานโลกจริง (Extended Reality): จุดจบของพรมแดนระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality) และเออาร์ (Augmented Reality) ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและทำงานของผู้คน โดยตัดทอนปัจจัยด้านระยะห่างระหว่างผู้คน ข้อมูล และประสบการณ์ต่าง ๆ ออกไป

คุณภาพของข้อมูล (Data Veracity): ความน่าเชื่อถือคือสิ่งสำคัญ การที่องค์กรทำงานโดยขึ้นอยู่กับข้อมูลมากขึ้น ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงลักษณะใหม่คือ การที่ข้อมูลไม่ถูกต้อง ข้อมูลถูกดัดแปลง และเติมแต่งอคติ นำไปสู่ข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่ผิดเพี้ยน และการตัดสินใจที่เบี่ยงเบนไปจากที่น่าจะเป็น

องค์กรจึงจำเป็นต้องคงเป้าหมายสองอย่างควบคู่กันไป คือทำให้ข้อมูลมีคุณภาพที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เกิดการเบี่ยงเบนน้อยที่สุดด้วย

ธุรกิจพัฒนาได้ต่อเนื่อง (Frictionless Business): ศักยภาพในการขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและยืดหยุ่น องค์กรธุรกิจต่างต้องอาศัยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโต

ซึ่งระบบเดิมขององค์กรอาจไม่สนับสนุนการขยายความร่วมมือในทางที่ต้องการได้เสมอไป การผลักดันให้เกิดองค์กรอัจฉริยะ จึงต้องเริ่มจากการดีไซน์องค์กรแบบใหม่

ระบบคิดที่เชื่อมต่อกัน (Internet of Thinking): ระบบอัจฉริยะเชื่อมโยงกัน กลายเป็นระบบนิเวศที่ชาญฉลาด องค์กรธุรกิจต่าง ๆ คาดหวังประโยชน์ที่จะได้รับจากสิ่งแวดล้อมระบบอัจฉริยะต่าง ๆ เช่น โรโบติกส์ เอไอ และประสบการณ์เสมือนในโลกจริง

อย่างไรก็ตาม การสร้างสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่เพียงอาศัยบุคลากรและทักษะความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังต้องทำให้โครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความทันสมัยขึ้นด้วย

AI

การประสานความร่วมมือในลักษณะใหม่กับลูกค้า พนักงาน และพันธมิตรธุรกิจ จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อใจกัน และช่วยให้ธุรกิจหล่อหลอมบทบาทเข้าไปอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม กลายเป็นฟันเฟืองที่จำเป็น และเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่