3 เรื่องที่ต้องรู้ และทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนทำให้กระบวนการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ยุคดิจิทัลหยุดชะงักงัน….

Highlight

  • หากต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่การขับเคลื่อนเทคโนโลยี จำเป็นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ และประโยชน์ที่จะนำเอไอ มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ว่าจะใช้เพื่ออะไร อย่าใช้เพียงเพราะคู่แข่งใช้ เพราะไม่ได้หมายความองค์กรธุรกิจที่เริ่มใช้ก่อนจะประสบความสำเร็จเสมอไป โดยมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาทั้งในด้านของ เศรษฐกิจ พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภค บุคลากรภายในองค์กร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย และความพร้อมบุคลากรภายในองค์กรเป็นองค์ตัวแปรสำคัญ
  • มีเพียง 7% เท่านั้นที่มีโครงสร้างปฏิรูป มีเป้าหมายที่ชัดเจน และปรับเข้าสู่การใช้ระบบดิจิทัลอย่างเต็มตัว และยังมีบุคลากรส่วนน้อยที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skill) ที่จะช่วยให้ยกระดับการทำธุรกิจ หรือเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันได้  

Digital Disruption อัตราเร่งที่องค์กรต้องเปลี่ยนแปลง?

ในปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ได้เราเห็นเทคโนโลยีอย่าง ระบบอัตโนมัติ (Automate), หุ่นยนต์ (Robotics), อินเตอร์เน็ตในทุกสรรสิ่ง (Internet of Things : IoT), เครื่องจักรที่เรียนรู้ได้ (Machine Learning), บล็อกเชน (Blockchains)

ที่ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจจนเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิตอล” (Digital Disruption) ซึ่งในหลาย ๆ ธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ต่างต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบ

และสร้างความหวาดหวั่นให้แก่คนในยุคถัดไปว่าจะเข้ามาแทนที่คนอย่างมาก คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในแง่มุมหนึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “เอไอ” คือสิ่งที่จะทำให้งานที่เคยทำงานด้วยคน กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และอาจจะไม่ต้องใช้คนในส่วนงานดังกล่าวเลย

ซึ่งตรงจุดนี้เองทำให้มีกระแสว่าการเกิดขึ้นของเอไอ จะทำให้คนตกงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังไม่เป็นอย่างกล่าว อย่างน้อยก็ไม่ใช้ในเร็ววันนี้ อย่างแน่นอน เพราะเหตุใดถึงกล่าวเช่นนี้ นั่นก็เพราะการที่จะสอนให้เอไอ สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ 100% นั้นจะต้องใช้ทั้งผู้เชี่ยวชาญในหลายด้าน และเชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมหาศาล

รวมถึงการสร้าง อัลกอริทึม (Algorithm) ที่ชี้ทางให้เอไอ เรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาคำตอบออกมาได้ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรธุรกิจไม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเอไอเลย แต่ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ว่า กำลังทำอะไรอยู่ และควรจะทำอะไรบ้าง ปัจจัยใดที่เป็นคุณค่าที่สำคัญของลูกค้า 

องค์กรต้องทำการวิเคราะห์ว่าองค์กรมีจุดแข็งอย่างไรบ้าง เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจหรือไม่ เพียงพอสำหรับการแข่งขันหรือไม่ ตลาดขององค์กรมีลักษณะเป็นอย่างไร องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่องค์กรต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก

ซึ่งแม้ว่า Digital Disruption จะเป็นอัตราเร่งสำคัญแต่ไม่ได้หมายความว่าองค์กรจะต้องรีบเสมอไป แะหากพิจารณาว่าองค์กรในประเทศไทย มีเพียง 7% เท่านั้นที่มีโครงสร้างปฏิรูป มีเป้าหมายที่ชัดเจน และปรับเข้าสู่การใช้ระบบดิจิทัลอย่างเต็มตัว และยังมีบุคลากรส่วนน้อยที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skill) ที่จะช่วยให้ยกระดับการทำธุรกิจ หรือเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันได้  

องค์กรต้องเริ่มมองหา AI เมื่อใด?

 

AI

องค์กรต้องเริ่มมองหาปัญญาประดิษฐ์เมื่อใด? มักเป็นคำถามยอดฮิตที่หลายธุรกิจอยากหาคำตอบว่า ในเมื่อเทคโนโลยีเกิดขึ้นแล้วจะให้ไม่เตรียมรับมือก็คงไม่ได้ ในส่วนนี้ก็ต้องขอบอกว่าหากคุณเป็นผู้บริหารขององค์กรที่มีหน้าที่ต้องวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรแล้วล่ะก็ถือเป็นคำถามที่ถูกต้อง

และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เพิกเฉยต่อกระแสของการเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนที่จะใช้เอไอ ในธุรกิจของตนเอง สิ่งที่ผู้บริหารองค์กรจำเป็นต้องพิจารณาให้ดีมีด้วยกัน อยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

ธุรกิจจำเป็นต้องใช้ หรือต้องการเปลี่ยนแปลงองค์การ (Organizational Change) ก่อนที่จะเริ่มใช้เทคโนโลยีสิ่งที่องค์กรต้องพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นคือพิจารณาจากความต้องการธุรกิจ ไม่ใช่เริ่มจากความต้องการใช้เทคโนโลยี องค์กรจะบรรลุเป้าหมายอะไรจากการเปลี่ยนแปลง 

ทำไมถึงต้องเปลี่ยน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ และใครคือผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง และจะตอบสนองอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กล่าวคือ องค์กรต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ และประโยชน์ที่จะนำเอไอ มาประยุกต์ใช้ในองค์กร

และเป็นไปตามนโยบายแผนงานที่ได้กำหนดไว้ คือการยกระดับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีความรวดเร็ว และตอบสนองทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และสังคม ก็ต้องกลับไปพิจารณาว่าปัจจุบันองค์กรธุรกิจของคุณมีงานที่ต้องการความรวดเร็วในการวิเคราะห์หา “คำตอบ”

AI

ทั้งในแง่มุมของงานที่ต้องคิดประมวลผลจากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ หรือเผื่อนำไปยกระดับงานบริการ หลังจากนั้น จึงค่อยพิจารณาเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (IT infrastructure) ว่าองค์กร พร้อมแค่ไหนสำหรับการใช้เอไอ องค์การควรพิจารณาถึงความร่วมมือ และความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง และควรเริ่มจากสิ่งที่ง่ายแล้วพัฒนาไปสู่สิ่งที่ยาก 

จึงจะทำให้สามารถบริหารความเปลี่ยนแปลงได้ (Management of Change) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักบริหารจำเป็นต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรก ๆ ก่อนที่จะวางเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

ต้องการใช้เพราะคู่แข่งใช้ ประเด็นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นักบริหารจำเป็นต้องครุ่นคิดให้มาก ๆ เพราะมีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้บริหารองค์กร ตัดสินใจที่จะใช้เทคโนโลยีเพียงเพราะไม่ต้องการที่จะปล่อยให้คู่แข่งก้าวนำหน้าไปก่อนองค์กรของตนเอง แน่นอนว่าการที่คู่แข่งใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ไม่อาจล่ะเลยได้

เพราะอาจส่งผลทำให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์การตลาด ในการหาลูกค้าใหม่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและการเติบโตทางการตลาด แต่ไม่ได้หมายความองค์กรธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะต้องเร่งเครื่องในการใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกันที่คู่แข่งทำ เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องหยิบมาพิจารณาด้วยคือเรื่องปัจจัยความพร้อม

ทั้งในด้านของ เศรษฐกิจ พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภค บุคลากรภายในองค์กร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และกฎหมาย ที่แต่ล่ะประเทศอาจไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อนโยบายการทำงาน ระบบบริหารงาน  ซึ่งหากจำเป็นต้องต้องเปลี่ยนก็จำเป็นที่จะต้องหยิบยกเรื่องเล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการคิดวิธีการลงทุนทางเทคโนโลยี

เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ตอบสนองต่อการแข่งขันรวดเร็ว แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนหลักที่สร้างให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด และอย่าได้หลงทางเพียงเพราะคู่แข่งใช้ก่อน เนื่องจากไม่ได้มีผลสำเร็จที่ตายตัวว่าผู้ที่ลงมือก่อนจะสามารถเป็นผู้ที่ชนะในเกมการตลาดเสมอไป

เพราะเทคโนโลยีนั้นสามารถพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ของที่ดีวันนี้อาจไม่ดีพอในวันพรุ่งนี้เสมอ การกำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าการเริ่มต้นทำงานเร็วเกินไปนั้น ทำให้ขาดการวางแผนและขาดการสนับสนุนที่เพียงพอ ในทางกลับกันการเริ่มต้นทำงานช้าเกินไป อาจทำให้สูญเสียผลประโยชน์บางอย่างได้

AI

มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยี จากที่กล่าวไปว่าเรื่องของบุคลากร เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการจะนำเอาเทคโนโลยีเอไอ ไปใช้งาน องค์กรที่ต้องการที่ก้าวไปสู่ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แต่ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมองค์กร ของตนเองได้

อาจส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เพราะทุกความเปลี่ยนแปลง นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบุคลากรในองค์การแทบทั้งสิ้น ผู้บริหารองค์กรวันนี้จำเป็นต้องทราบว่า บุคลากรแต่ล่ะแผนกมีทำหน้าที่อะไร มีทัศนคติ และความคาดหวังอย่างไร  เพื่อที่จะคาดการณ์ต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้ 

แน่นอนหากต้องการที่เปลี่ยนแปลงองค์กร การฝึกอบรม การสื่อสาร การพัฒนาบุคลากร การปลูกฝังความมีส่วนร่วม คือสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการมีการวางแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพราะสามารถสร้างให้เกิดความร่วมมือจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้น

อีกทั้งสร้างการสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และทำให้แผนงานได้รับการยอมรับมากขึ้น สามารถสร้างความไว้ใจจากพนักงานได้ เพราะว่าพนักงานเป็นผู้มีส่วนร่วมในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลง และจะทำให้เกิดการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ซึ่งจะสามารถลดปัญหาการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงได้ทั้ง

หากพิจารณาจากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น การวางแผนที่ดี ยอมดีกว่าการเร่งลงมือ แต่ได้ผลตรงกันข้ามกับเป้าหมาย เพราะต่อให้องค์กรมีความพร้อมในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน แต่หากไม่บุคลากรที่มีความเข้าใจในตัวเทคโนโลยีก็เหมือนมีรถซุปเปอร์คาร์แต่ขับไม่เป็นนั่นเอง

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการและผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่