Blockchain

Blockchain สู่การปฏิรูปการทำงานยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องการเงิน แต่สามารถประยุกต์ใช้ในการบริหารและจัดการงานที่เน้นความถูกต้องขั้นสูงสุด

Blockchain

ช่วงนี้เห็นข่าวสารทั้งช่องทางสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียล พูดถึงการที่เทคโนโลยีจะมาทดแทนคนในอาชีพต่าง ๆ คนเป็นจำนวนมากจะสู้เทคโนโลยีไม่ได้ ตำแหน่งงานเป็นจำนวนมากกำลังจะหมดไปเพราะการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ นับวันจะมีข่าวทำนองนี้มากขึ้น

โดยอาจก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านและเกลียดชังเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังที่เกิดขึ้นในอังกฤษ กรณี Luddite เมื่อ 200 กว่าปีก่อน ที่ผู้คนตกงานเข้าใจว่าเครื่องจักรเครื่องยนต์เป็นสาเหตุให้ตกงานและมีความเกลียดชังต่อเทคโนโลยี จึงลุกคือขึ้นมาบุกรุกทำลายเครื่องจักรกลในโรงงานต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้มีการแขวนคอผู้ก่อการจราจลส่วนหนึ่ง

และอีกส่วนหนึ่งได้จับลงเรือเนรเทศมาที่ออสเตรเลีย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีเครื่องจักรกลต่าง ๆ ไม่เคยที่จะแข่งขันหรือแย่งงานกับมนุษย์ ไม่มีเหตุผลที่จะแข่งขันเพราะเทคโนโลยีไม่ได้มีความต้องการที่จะเอาชนะ ไม่มีเหตุผลที่จะแย่งงานเพราะเทคโนโลยีไม่ได้มีกิเลสที่จะต้องร่ำรวย

แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ได้ใช้เครื่องมือที่เคยชินกับการทำงานแบบเดิม กับอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้จักใช้เครื่องมือเพื่อแข่งขันและแย่งงาน

ในช่วงเวลาที่เกือบครบรอบ 20 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจการเงินการธนาคารกำลังจะต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหม่ สัญญาณเตือนเริ่มปรากฏแล้วเมื่อธนาคารในต่างประเทศเริ่มทยอยปิดสาขาลง เนื่องจากแต่ละสาขามีผู้ใช้บริการลดลงเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปใช้บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น

รวมทั้งผู้เล่นรายใหม่ที่เอาเทคโนโลยีมาไล่บี้กลุ่มธนาคารรุ่นเก่า ด้วยข้อได้เปรียบที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากกว่า เปิดเผยโปร่งใสมากกว่า และยุติธรรมกับลูกค้าดีกว่า ภายใต้เทคโนโลยี Blockchain สถานการณ์เช่นนี้น่าวิตกว่าบรรดาผู้จัดการสาขาธนาคารต่าง ๆ ที่กำลังจะได้รับผลกระทบนี้จะทำอย่างไร

หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่ธุรกิจภาคการเงินการธนาคารจะถูก Disrupt ด้วยกระแสบิตคอยน์ อย่างไรก็ตามบิตคอยน์เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ เท่านั้นเรื่อง Cryptocurrency หรือ Digital Currency เป็นเพียงคลื่นลูกแรกที่เข้ามาส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ โดยคลื่นลูกต่อไปที่กำลังจะเข้ามาและส่งผลกระทบได้รุนแรงกว่าน่าจะเป็นเรื่อง Smart Contract

สังเกตได้จากบริษัทที่มีการระดมผ่านช่องทาง ICO (Initial Coin Offering) ในปี 2017 กำลังสร้างบริการผ่าน Block chain บน Ethereum Smart Contract ในตอนแรกคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากและคงต้องใช้เวลานาน ด้วยระบบนิเวศของระบบกฎหมายที่มีมาอย่างยาวนานและมั่นคงยากต่อการสร้างผลกระทบได้ แต่เมื่อเอาเรื่อง Smart Contract มารวมกับ AI (Artificial Intelligence) โดย AI กำลังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างผลกระทบในหลายสาขา

วันนี้เครื่องจักรได้มีการพัฒนาจาก Muscle Machine เข้าสู่ Mind Machine (ตามหนังสือ The Second Machine Age ของ MIT Professor : Brynjolfsson กับ McAfee) วันนี้ AI สามารถประยุกต์เอามาทำงาน Call Center หรือเอามาทดแทน Call Center ได้ เช่น Chatbot หรือ Webbot

หรือแม้กระทั้งการนำเอา AI มาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แทนนักโปรแกรมเมอร์ (แม้กระทั่งสายเทคนิคเทคโนโลยียังไม่รอดต่อการเปลี่ยนแปลง) Agrello เป็นสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเมื่อมีการผนวกเอาเรื่อง AI กับ Smart Contract เข้าด้วยกัน โดยสามารถทำให้ 2 ฝ่ายที่ตกลงทำสัญญาธุรกรรมระหว่างกันสามารถสร้างสัญญาที่เป็น Smart Contract ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้

บล็อกเชนที่เข้ามาทำลายระบบการเงินการธนาคารหรือระบบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจจะดูเป็นคลื่นลูกเล็ก ๆ เท่านั้นเมื่อเทียบกับการนำบล๊อกเชนข้ามาทำลาย Bureaucratic (การหลากหลายขั้นตอน ใช้เจ้าหน้าที่หลายคนในการพิจารณาเรื่อง) ในระบบราชการ ที่มีคำถามถึงความโปร่งใส การใช้เวลาดำเนินการอย่างยาวนาน รวมทั้งขั้นตอนที่ยอกย้อนไปมา แนวคิดการดำเนินการเอาบล๊อกเชนมาใช้ในงานบริการสาธารณะ (Civil service)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ใช้ในการพิจารณาให้ทำ อนุญาต หรือตรวจสอบต่าง ๆ จะเริ่มด้วยแนวทางใหม่ว่างานเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ข้าราชการอีกต่อไป แต่จะใช้พลเมืองหรือประชาชนผนวกกับเทคโนโลยีแบบ Decentralization เช่น Blockchain เข้ามาดำเนินการแทนข้าราชการที่แต่ละปีต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

แต่ประสิทธิภาพไม่คุ้มค่าและเต็มไปด้วยข้อกังขาในความโปร่งใส ในการใช้ดุลพินิจ ในขณะนี้เองหลายรัฐบาลกำลังศึกษาที่จะทำการ Disrupt ระบบราชการของตนเอง โดยการนำเอาบล็อกเชนมาใช้งานเพื่อทดแทนเจ้าหน้าที่ข้าราชการและหน่วยงานที่เป็นงานสารบรรณ หลายบทความมีการพูดถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ระบบราชการจะต้องถูก Disrupt ไม่ว่าจะทำเอง หรือโดยสภาวะแวดล้อมจะเข้ามาจัดการ

ท้ายที่สุดระบบราชการจะไม่สามารถอยู่ในโซนปลอดภัย (Comfort Zone) ได้อีกต่อไป จากความเชื่อในอดีตที่ผ่านมาว่าการเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถมีงาน มีสวัสดิการอย่างมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้จนถึงเกษียณ โดยไม่ต้องขวนขวายอะไรมากอาจเป็นจริงเมื่อในอดีต แต่อาจจะไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้

สุดท้ายนี้ประเด็นคงไม่ใช่การถกเถียงว่าระบบราชการจะถูก Disrupt หรือไม่ แต่ประเด็นควรอยู่ที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะต้องเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนไป ปรับและพัฒนาตนเองมากขึ้น เรียนรู้ความต้องการของประชาขน เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ควบคุมและสั่งการ” ที่พยายามออกกฎ กติกาต่าง ๆ มากมายเพื่อรักษาฐานอำนาจรวมศูนย์ (Centralization) มาเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการโดยภาคประชาชนแทนในยุค Decentralization

อ่านเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับ บล๊อกเชน