เทคโนโลยีจัดการคลังสินค้า
การค้าขายของโลกดิจิทัล แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากโลกที่จับต้องได้ ขีดการแข่งขันจึงวัดกันที่เทคโนโลยีของการดึงดูดลูกค้า ซึ่งเมื่อเกิดการซื้อขาย ระบบการจัดการคลังสินค้าจึงเป็นหัวใจสำคัญ

การค้าขายของโลกดิจิทัล แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากโลกที่จับต้องได้ แน่นอนว่า ด้วยทั้งกระบวนการของการซื้อขายที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่จำเป็นต้องเจอหน้าค่าตากันเลย จนสามารถส่งออกสินค้าได้ ความสามารถของการแข่งขันธุรกิจจึงไปตกอยู่ที่เทคโนโลยีจัดการคลังสินค้าที่ใช้เพื่อการดึงดูดลูกค้า ระบบการซื้อขายตลอดจนความรวดเร็วและคุณภาพของการส่งสินค้า เมื่อเกิดการซื้อขาย ระบบการจัดการสินค้าคงคลังที่ดี จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเดินหน้าสู่ยุค 4.0 ดังที่หลายฝ่ายอยากให้เป็น

กลับมาที่ประเทศไทย ระบบเทคโนโลยีจัดการคลังสินค้าที่มีนั่นยังเทียบไม่ได้กับยุคดิจิทัล 4.0 หากจะวัดระดับเช่นนั้นก็ยังเป็นเพียงแค่ 2.5 เท่านั้น เพราะเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในระบบคลังสินค้า ยังเป็นเพียงการใช้งานบาร์โค้ดเท่านั้น การเข้าและออกสินค้ายังต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก

ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาระบบคลังสินค้าด้วยเทคโนโลยีอย่างประเทศสิงคโปร์นั้น สามารถออกสินค้าได้รวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเมื่อเกิดคำสั่งซื้อ ซึ่งเป็นการทำงานด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติทั้งหมดของระบบคลังสินค้า ตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อ พิมพ์ที่อยู่ลูกค้า เลือกสินค้าออกจากชั้นวาง และท้ายที่สุดส่งเข้ากระบวนการจัดส่งต่อไป

ความรวดเร็วดังกล่าวแม้ว่าจะมองไม่เห็น แต่ก็ส่งผลโดยตรงกับยอดขายเป็นอย่างมาก แน่นอนว่า เมื่อสั่งสินค้าแล้วของมาส่งถึงมือเร็วขึ้น ย่อมมีความประทับใจและอยากสั่งสินค้าชิ้นนั้น ๆ อีกอย่างแน่นอน

และเมื่อเทียบความเร็วของการออกสินค้าเพื่อจัดส่งแล้ว ความเร็วก็ช่วยทำให้ออกสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่าธุรกิจสามารถขายสินค้าได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะถ้าขายไม่ได้ก็คงไม่ต้องออกสินค้าส่งให้กับใครจริงไหม

Warehouse 4.0 ต้องมีอะไรบ้าง

สิ่งแรกที่ต้องมีของการเป็น Warehouse 4.0 นั้น ก็คือระบบโซลูชันการบริหารจัดการคลังสินค้า หรือที่เรียกว่า WMS (Warehouse Management System) ซึ่งเป็นระบบการบริหารคลังสินค้าอย่างครบวงจร ที่ช่วยในการกำหนดตารางการดำเนินงานของคลังสินค้าทั้งระบบ ตั้งแต่การรับสินค้า การจัดเก็บ การเบิก การจัดส่ง

เทคโนโลยีจัดการคลังสินค้า

รวมถึงการเชื่อมโยงและการประมวลผลคำสั่งซื้อ โดยจะสนับสนุนการใช้ระบบบาร์โค้ดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจัดการสินค้า การควบคุมสต็อกและช่องจัดเก็บอัตโนมัติ การตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของสินค้า

ด้วยระบบติดตามทั้งหมดผ่านระบบซอฟต์แวร์ ที่สามารถขอผ่านหน้าจอและควบคุมได้อย่างสมบูรณ์แบบ อีกทั้งยังมีการสร้างระบบบัญชีเบื้องต้น และการรายงานผลการวิเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ สำหรับผู้บริหารเพื่อวิเคราะห์โอกาสทางการขายและตรวจสอบปริมาณความต้องการสินค้า ส่งย้อนกลับไปสู่การประมาณการยอดขายและวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ WMS ยังสามารถรองรับการทำงานหลายคลังสินค้าพร้อมกันได้ (Multi-Warehouse) โดยจะเป็นการผสานการทำงานร่วมกันภายใต้คำสั่งซื้อเดียว ซึ่งเมื่อเกิดคำสั่งซื้อระบบจะค้นหาตำแหน่งของคลังสินค้าที่ใกล้ลูกค้ามากที่สุด และมีความรวดเร็วของการออกสินค้าเพื่อจัดส่งได้รวดเร็วที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้นต้นทุนและความเร็วของการจัดส่งที่แปรผันตามระยะทางก็จะมีราคาต่ำลงแต่ได้ความเร็วเพิ่มขึ้น

แต่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการบริหารจัดการคลังสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องกำหนดแนวทางการนำมาใช้และรูปแบบของเทคโนโลยี เพื่อรองรับกระบวนการทำงานและการจัดการคลังสินค้า รวมทั้งการจัดทำนโยบายการปฏิบัติ และข้อกำหนดต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน ให้สามารถทำงานสอดคล้องกับกระบวนการทำงานของไอทีทั้งระบบขององค์กรนั้น ๆ

อีกทั้งผู้ประกอบการบริษัทที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ และผู้ใช้ซอฟแวร์ ต้องพัฒนาและติดตั้งระบบจากการวิเคราะห์กระบวนการทางธุรกิจและความต้องการระบบบริหารจัดการคลังสินค้า จัดทำเป็นชุดข้อตกลงสำหรับใช้ในการสร้างการยอมรับการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงาน

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งระบบซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการคลังสินค้าในประเทศไทยที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลวสูงถึง 30% และใช้เวลานานมากกว่า 6 เดือนในการให้ติดตั้งแล้วเสร็จ ผู้ประกอบการจึงควรมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และมีการเตรียมความพร้อมก่อนการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์

ทั้งนี้ สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนงานด้านโลจิสติกส์ DRP, WMS” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยในการวางแผนการกระจายสินค้าและวัตถุดิบ

รวมทั้งการบริหารจัดการคลังสินค้า ทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมก่อนการติดตั้งระบบ การกำหนดรหัสบาร์โค้ด อาคารและระบบชั้นวางสินค้า ตลอดจนขั้นตอนการติดตั้งซอฟต์แวร์ DRP, WMS ให้เกิดความสำเร็จ สามารถลดต้นทุน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

สราวุธ เล้าประเสริฐ ประธานชมรมเทคโนโลยีคลังสินค้าและระบบจัดการ กล่าวว่า “ตลาดโลจิสติกส์ในประเทศไทยเติบโตถึงร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 3.85 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี

ซึ่งต้นทุนด้านการจัดการคลังสินค้าคิดเป็น 54.6% ของต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งหมด ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไทยได้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี และระบบที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการบริหารการจัดการสินค้าคงคลังได้ จะทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของธุรกิจลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง และสามารถสร้างกำไรได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

จะเห็นได้ว่าต้นทุนของการส่งสินค้านั้นมีมูลค่ามหาศาล และการจัดส่งก็มีผลต่อประสบการณ์ของลูกค้าโดยตรง ดังนั้นความท้าทายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงตกอยู่ที่การบริหารจัดการที่ดีของระบบคลังสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กระนั้นความท้าทายนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากผู้ค้ารายเล็ก ๆ แต่ต้องใช้ระบบของการจัดการที่ทั้งซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีจะต้องสอดคล้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพของผู้ประกอบการขนาดใหญ่นั่นเอง

โดยตัวอย่างของการนำหุ่นยนต์มาใช้ในประเทศจีนนั้น เราเริ่มเห็นหุ่น Hikvision ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ช่วยแยกพัสดุขนาดเล็ก (ขนาดราว 50x40x10 นิ้ว) สามารถวางสินค้าชิ้นไม่ใหญ่มากด้านบน เพื่อจัดส่งในระบบคลังสินค้าได้อย่างสะดวกเมื่ออ่านบาร์โค้ดที่ระบุรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว

โดยถูกโปรแกรมให้เดินทางในแนวราบ และเมื่อถึงที่หมายก็จะเทกล่องพัสดุเข้าสู่ระบบสายพานต่อไป พบว่าช่วยลดต้นทุนได้กว่า 70% และสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน

การแข่งขันด้านเวลาของการออกสินค้าเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ได้รับความนิยม โดยคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพบางแห่งสามารถออกสินค้าได้รวดเร็วเป็นหลักชั่วโมง และหากมองประเทศไทยเราก็ยังห่างชั้นกับการออกสินค้าเช่นนั้นอยู่มาก ซึ่งก็เป็นอุปสรรคสำคัญของการเติบโตสำหรับวงการค้าอีคอมเมิร์ซในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่กระนั้นการพัฒนาเพื่อให้สามารถแข่งขันด้านระบบคลังสินค้าได้ จำเป็นต้องมองภาพใหญ่ของระบบการขนส่งสินค้าทั้งระบบ หรืออาจจะต้องมองไปถึงกระบวนการผลิตและคำสั่งซื้อเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งระบบ

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อต้นทางผลิตสินค้าก็จะสร้างบาร์โค้ดเฉพาะตัวขึ้นทันที บาร์โค้ดดังกล่าวก็จะถูกนำมาเป็น Product ID เหมือนเลขบัตรประชาชนที่จะไม่ซ้ำกัน เมื่อเกิดคำสั่งซื้อสินค้าชิ้นนั้น ๆ ก็จะถูกจัดส่งเข้าระบบแบบอัตโนมัติ แล้วสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้านั้นมีการผลิตและวัตถุดิบเป็นอย่างไร

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีที่ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตเอง ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการทำงานทั้งระบบจึงไม่สมบูรณ์แบบ ขณะที่เงินลงทุนซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นระบบหลังบ้านที่ไม่ได้ถูกพบเห็น

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้การพัฒนาระบบเพื่อนำเทคโนโลยีไปใช้ทดแทนการทำงานรูปแบบเดิม ๆ ของระบบคลังสินค้า จึงมีอุปสรรคใหญ่อยู่ที่ผู้บริหารเป็นหลัก ซึ่งมักมองถึงจุดคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นหากจะต้องลงทุนเพื่อสร้างโซลูชันที่ครบวงจรด้วยเม็ดเงินไม่น้อย

มองมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจการตัดสินใจของผู้บริหาร เนื่องจากทั้งการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐเองที่ไม่เป็นใจแล้ว ยังมีในส่วนของการเลือกใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจมากที่สุดก็เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ

แต่กระนั้นการก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงให้ได้นั่น ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของทุกอุตสาหกรรมที่จะต้องเดินหน้าต่อไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งว่าด้วยการแข่งขันสารสนเทศของการจัดการอย่างแท้จริง และเมื่อถึงยุคนั้นแล้วการแข่งขันจะไม่พูดถึงการจัดการสินค้าคงคลังอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของการแข่งขันด้านประสบการณ์ของลูกค้า ในการเดินไปตามเป้าหมายของธุรกิจที่วางไว้อย่างแน่นอน

ไม่เชื่อก็ลองหาเหตุผลว่าทำไมเราต้องเข้าเฟซบุ๊กทุกวัน เชื่อหรือไม่ว่าพฤติกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ แต่เป็นการสร้างเส้นทางของพฤติกรรมให้เราเดินตามนั่นเอง ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมด้านระบบจัดการคลังสินค้าก่อนจึงเป็นเรื่องที่ “จะต้องทำ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้