ความท้าทายของรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศเกี่ยวกับความเจริญของเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตมากขึ้นปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขข้อกฎหมาย ระเบียบ และวิธีการบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น

ความสะดวก VS กฎ

อูเบอร์ กลายเป็นบริการที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้วยจริตของการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และนับเป็นทางเลือกของการโดยสารรถสาธารณะที่สะดวกสบายบนแพลตฟอร์มมือถือ แต่ท้ายที่สุด อูเบอร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของระบบการขนส่งสาธารณะแบบเดิม ๆ

เพราะด้วยข้อกฎหมายแล้ว แม้ว่าจะเรียกบริการเช่นนี้ว่าเป็นการแชร์การเดินทางก็ตาม การบริการดังกล่าวก็จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแลเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้ขับขี่ในปัจจุบันของประเทศไทยที่เรียกรถประเภทนี้ว่า “แท็กซี่ป้ายดำ” กลายเป็นผู้ให้บริการเถื่อนไปโดยปริยาย

ความสะดวก VS กฎ

ด้าน กรมการขนส่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งสาธารณะโดยตรง จึงต้องออกมาทำหน้าที่ตามจับผู้กระทำความผิดไปโดยจำยอม และหากจะมองไปในหลาย ๆ ประเทศก็ต้องยอมรับว่า อูเบอร์กลายเป็นบริการที่ยังไม่อยู่ในหมวดของระบบขนส่งสาธารณะตามข้อกฎหมาย

แม้ว่าบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์จะออกสติกเกอร์เพื่อบ่งบอกรถขนส่งประเภทใหม่นี้สำหรับอูเบอร์หรือแกร็บแท็กซี่ เพื่อทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้บริการมากขึ้น แต่ในบางประเทศก็ยังเป็นข้อกังขาถึงวิธีการควบคุมและจำกัดการให้บริการตามจำนวนวันที่กำหนดเท่านั้น จึงนับได้ว่าการให้บริการของอูเบอร์ยังมีอุปสรรคอีกมากมาย

และหากเราจะมองที่บริการแชร์ห้องว่างให้เช่าอย่าง Airbnb ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองหรือแบ็กแพ็กเกอร์ ก็ยังเป็นที่กังขาอยู่ว่าจะมีการวบคุมการให้บริการอย่างไร บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ผู้ให้บริการโรงแรมที่พักเริ่มออกมาร้องขอการควบคุมอย่างจริงจัง เนื่องจากกระทบรายได้ของการให้บริการเข้าให้แล้ว

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นความได้เปรียบและเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยว เพราะได้ใกล้ชิดที่อยู่อาศัยของผู้คนในประเทศนั้น ๆ อย่างจริงจังนั่นเอง ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแบกเป้นั่นเอง

แน่นอนว่าการให้บริการเช่นนี้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเจ้าของห้อง และที่สำคัญอาจจะเป็นช่องหลบเลี่ยงภาษีสำหรับบางประเทศก็เป็นได้ แต่กระนั้นการเปิดบริการห้องเช่าเช่นนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่หลาย ๆ ประเทศกังวลใจและออกมาตรการควบคุมเช่นกัน ซึ่งหากจะมองข้อเท็จจริงแล้วนั้น การเข้าพักแบบไม่ตรวจสอบความปลอดภัยก็อาจจะถึงขั้นเกิดความไม่ปลอดภัยของตัวผู้เข้าพักเองก็เป็นได้

ในประเทศไทย Airbnb ก็ยังนับว่าเป็นบริการที่อยู่นอกกฎหมายอยู่ดี เนื่องจากฎหมายการให้บริการที่พักที่มีมานานหลายปียังต้องการความน่าเชื่อถือและหลักแหล่ง ตลอดจนนิยามการลงทุนเป็นสำคัญ การดำเนินการห้องเช่า หรือสร้างรายได้ผ่านแอพพลิเคชันที่รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐกังวลใจเป็นอย่างมาก

ล่าสุด การบริการรูปแบบ OTT (Over The Top) หรือบริการมัลติมีเดียบนแพลตฟอร์มสมาร์ตดีไวซ์ ซึ่งนับเป็นการให้บริการสื่อมัลติมีเดียผ่านช่องทางใหม่ทั้งรูปแบบโซเชียลมีเดียที่มีอยู่เดิม หรือแม้กระทั่งเป็นบริการดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่มีนักพัฒนาเปิดขึ้นมา เหล่านี้หลายประเทศเริ่มกังวลใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมการผลิตคอนเทนต์ที่เริ่มจะต้องเร่งแก้ไขวิธีการหรือโมเดลทางธุรกิจใหม่เพื่อเข้าแข่งขันบนโลกดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ ATRC Leaders ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีหัวข้อสำคัญในการหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลบริการประเภท OTT หรือ Over The Top ซึ่งเป็นบริการสื่อสารแพร่ภาพและเสียงผ่านแอพพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ต อาทิ Line, Facebook, YouTube, บริการ Uber, Alibaba, Airbnb ที่เป็นปัญหาหลักทั่วโลกในขณะนี้

ด้าน สำนักงานกสทช. จึงได้เสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม (TELCO) ของทุกประเทศในอาเซียนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายสัญญาณบริการ และแต่ละประเทศมีสภาวะการใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมแตกต่างกัน

เช่น บางประเทศเป็นระบบสัมปทาน บางประเทศใช้ระบบการอนุญาต และบางประเทศเป็นการให้สิทธิ์การใช้งานคลื่นความถี่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้มีต้นทุนการให้บริการต่างกัน ผลกระทบที่ได้รับจึงแตกต่างกัน การรับฟังความคิดเห็นเพื่อจะนำส่งเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลการให้บริการประเภทนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

หลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการแล้ว จะมีการประชุมหารืออีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะหาแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด โดยในครั้งนี้ มติที่ประชุมได้ขอให้ประเทศไทยโดยสำนักงานกสทช. รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการ OTT จากทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทุกประเทศ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เกิดการแข่งขันในตลาดบริการออนไลน์อย่างยั่งยืน
จึงเท่ากับว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการควบคุมบริการที่คาบเกี่ยวกับโลกออนไลน์ และส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตรูปแบบเดิม หรือข้อกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วของแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นหลัก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่การเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการให้บริการด้วยดิจิทัลเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเดิม ๆ นั้นต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจ ศึกษาข้อมูล ตลอดจนการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ระบบมีความมั่นคง ขณะที่การเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลเป็นเรื่องของความรวดเร็ว เพิ่มความสะดวก จนลืมไปว่ากรอบบางอย่างอาจจะไม่รองรับ จนทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น

กฎข้อบังคับที่ต้องทำความเข้าใจ

โดยล่าสุด จากความเห็นของ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวครั้งหนึ่งว่า ความรวดเร็วของเทคโนโลยีสวนทางกับการออกกฎหมายข้อบังคับ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่หลายฝ่ายจะต้องหันมาทำความเข้าใจกัน

โดยแต่ละบริการที่เกิดขึ้นใหม่ ก็ควรที่จะต้องอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้ข้อกฎหมายเดียวกัน ซึ่งหากจะต้องให้ข้อกฎหมายเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเพื่อรับเทคโนโลยีก็อาจจะเป็นเรื่องที่มากเกินไป หรือหากจะปิดกั้นเทคโนโลยีไปเลย ประเทศเราก็คงจะล้าหลังด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างแน่นอน

ทางออกของปัญหาจึงต้องร่วมกันเข้ามาแก้ไข ทั้งส่วนของผู้ผลิตบริการเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าจะสามารถเพิ่มเติม แก้ไข หรือแม้กระทั่งตีกรอบการให้บริการว่าควรจะเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้เกิดช่องของการพัฒนา ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่สร้างความขัดแย้ง หรือทำให้ธุรกิจเดิมที่มีอยู่นั้นล้มหายตายจากไปเลย

ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างนั้นก็น่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีภายใต้ข้อกฎหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น