ก้าวสู่ Industry 4.0
ก้าวสู่ Industry 4.0 ยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปรับตัวให้อยู่รอด โดย ภูวดล สุวรรณธารา อดีตผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ในวาระที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ Digital Economy หันไปทางไหนก็มักจะเจอแต่ผู้ประกอบการที่พูดคุยเรื่อง Industry 4.0 และเต็มไปด้วยคำถามกับข้อสงสัยว่าการ ก้าวสู่ Industry 4.0 คืออะไร แล้วธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ทำมาถึงรุ่นที่ 3 จำเป็นจะต้องก้าวไปหรือไม่ นั่นคือโจทย์ที่สภาอุตสาหกรรมต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ

วันนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีสมาชิกกว่า 10,000 ราย มียอดขายรวมกันกว่า 14.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 74 จังหวัด 45 อุตสาหกรรม และ 12 หมวดคลัสเตอร์ ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน จนถึงอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น อาหาร สมุนไพร ฯลฯ ในจำนวนนี้ 85% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

 

ปัจจุบันผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังติดกับดักอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือ Industry 2.0 โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 70% ของทั้งหมด

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ก้าวสู่ Industry 2.5 และ Industry 3.0 มีอยู่ 25.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ลงทุนจากต่างประเทศและซัพพลายเชนที่ต่อเนื่อง ซึ่งถูกบังคับให้ใช้กระบวนการผลิตที่สอดรับกับผู้ประกอบการหลัก ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าสู่ Industry 4.0 ปัจจุบันมีไม่เกิน 1-2% และเป็นบริษัทข้ามชาติทั้งสิ้น

ก้าวสู่ Industry 4.0

ภายใต้นิยามของ Industry 4.0 หมายถึง ผู้ประกอบการที่ใช้ไอซีทีเข้ามาสนับสนุนกระบวนการผลิตทั้ง Process ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือมีการใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ เช่น Enterprise resource planning (ERP) และ Material Requirements Planning (MRP) ในการบริหารจัดการเชื่อมโยงไปสู่สายการผลิตที่ควบคุมผ่าน Programmable Logic Controller (PLC) เพื่อจัดการกระบวนการผลิต รวมถึงการติดตามกระบวนการผลิตได้แบบเรียลไทม์

ใน Industry 4.0 นั้น ตลอดกระบวนการผลิตจะมีการใช้ไอซีทีมาเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ ระบบ ERP, 3D Printing, Robotic, SCADA, Mobile and Wireless Device

ก้าวสู่ Industry 4.0

ปัจจุบันในคณะกรรมการสภาอุตสหกรรมแห่งประเทศไทยมีการพูดคุยถึง Industry 4.0 กันอย่างมาก รวมถึงการให้กรอบการพัฒนาแต่ละอุตสาหกรรมว่า อุตสาหกรรมไหนบ้างที่ต้องพัฒนาไปสู่ 4.0 และอุตสาหกรรมไหนที่ควรจะจบที่ 3.0, 2.0 และ 2.5 เป็นต้น

ซึ่งต้นแบบของประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมใดที่ต้องก้าวไปถึง Industry 4.0 และอุตสาหกรรมใดที่พัฒนาแค่ Industry 3.0 หรือ Industry 2.5

โดยเป็นเวลากว่า 2 ปีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการหารือเร่งยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการจัดทำวิจัยอุตสาหกรรม 45 ประเภทว่าแต่ละอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างไร อุตสาหกรรมไหนต้องก้าวไปสู่ Industry 4.0 บ้าง โดยผลวิจัยดังกล่าวจะเสร็จในเร็ว ๆ นี้ และจะถูกวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0

อีกด้านหนึ่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTI) จะเดินหน้าสำรวจความพร้อมด้านไอซีทีของอุตสาหกรรมและสมาชิกกว่า 10,000 ราย เพื่อนำมาประเมินและกำหนดกรอบการทำงานในการทำงานเพื่อผลักดันผู้ประกอบการให้นำเทคโนโลยีไอซีทีที่เหมาะสมมาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจมากขึ้น

ที่ผ่านมา ICTI มีบทบาทหลักในการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยไอซีที ผ่านการอบรม สัมมนา และ Open House โดยจัดแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเน้นการประยุกต์เทคโนโลยีไอซีทีให้กับโรงงานและผู้ประกอบการ เช่น สัมมนา ERP/MRP และ IoT

อีกบทบาทหนึ่งนั้น ICTI มีส่วนผลักดันในการพัฒนาบุคลากรที่มีองค์คความรู้ในการด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยการผลิต ผ่านการจัดหลักสูตรอบรม 100 ชั่วโมง เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทั้งไอทีและกระบวนการผลิต เพื่อส่งเสริมให้มีบุคลากรมาสนับสนุน Industry 4.0

การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ Industry 4.0 เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตทดแทนการใช้แรงงาน ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวเป็นบทบาทหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่หากทำได้จะยกระดับงานไอซีทีของภาคอุตาหกรรมให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง