Skills

ในปัจจุบันการมี อาชีพยุคดิจิทัล ไม่จำเป็นว่าจะต้องจบการศึกษาในขั้นอนุปริญญา หรือปริญญาตรี แต่ในขณะเรียนหนังสือ เราก็สามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัวได้ในโลกยุคใหม่นี้ เพราะมีเครื่องมือช่วยทำงานหารายได้อย่าง อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อที่เข้าถึงได้ทุกคน

จึงเกิดอาชีพยุคดิจิทัล หรือที่หลายคนชอบเรียกกันว่า “อาชีพออนไลน์” อาชีพแนวใหม่นี้ก็กลายเป็นอีกทางเลือก ที่หลาย ๆ คนนิยมทำเป็นอาชีพเสริมซึ่งจะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน

นักเขียนบทความออนไลน์

ในยุคที่นิตยสารเริ่มล้มหายตายจาก หลายคนจึงนิยมไปอ่านข้อมูลหรือบทความ (Content) ในโลกออนไลน์แทน เนื่องจากมีความรวดเร็วกว่า และมีข้อมูลทันสมัยกว่าด้วย จึงเกิดอาชีพนำเสนอเนื้อหา (Digital Content) ในเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่าง facebook หรือที่เรียกอาชีพนี้ว่า ผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ หรือ นักเขียนบทความออนไลน์ (Digital Content Creator)

สำหรับอาชีพนี้มีข้อได้เปรียบตรงที่ ไม่ต้องใช้ทุนเยอะ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือกระทั่งสมาร์ทโฟน พร้อมอินเทอร์เน็ต ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ ที่ไหนเวลาไหนก็ได้ทันที  ส่วนรายได้ก็จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ผู้ผลิตเนื้อหาประจำบริษัท กับผู้ผลิตเนื้อหาอิสระ

สำหรับผู้ผลิตเนื้อหาประจำบริษัท ก็ตรงตัวเลยคือ เป็นลูกจ้างของบริษัทหนึ่ง ที่จ้างให้มาเขียนข่าวเขียนบทความ ตามที่บริษัทกำหนด โดยมีรายได้เป็นเงินเดือนเหมือนพนักงานทั่วไป ส่วน Digital Content อิสระ ก็คือนักเขียนออนไลน์ที่มีเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเผยแพร่คอนเทนต์ของตัวเอง ส่วนรายได้ก็มาจากโฆษณาหรือมีแบรนด์มาจ้างให้ช่วยเขียนคอนเทนต์เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของเขา

อาชีพยุคดิจิทัล

นักรีวิว

อาชีพนี้ก็จะคล้าย ๆ กับนักเขียนบทความออนไลน์ แต่รูปแบบการทำคอนเทนต์จะเน้นไปที่การอธิบายลักษณะ  คุณประโยชน์ที่ได้รับ และอธิบายความรู้สึกดี ๆ หรือไม่ดีต่อสินค้าหรือบริการของยี่ห้อนั้น ๆ แทน ซึ่งมักเห็นได้ตามเว็บไซต์ เว็บบล็อก หรือถ่ายเป็นวิดีโอรีวิวผ่าน Youtube ส่วนรายได้ก็เหมือนกรณีนักเขียนบทความออนไลน์เลย

ติวเตอร์ออนไลน์

เป็นอาชีพทำคอร์สออนไลน์ขายผ่านเว็บไซต์ จะคล้าย ๆ กับการทำวิดีโอสอนผ่าน Youtube แต่ในรูปแบบนี้จะมีความละเอียดกว่ามาก โดยผู้สอนจะต้องอัดคลิปการสอนของตัวเองชนิดเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจต้องใช้ทักษะตัดต่อวิดีโอพอสมควร และเทคนิคการสอนระดับมือชีพ เนื่องจากไม่ได้ทำฟรีอีกต่อไป เพราะคนที่เข้ามาเรียน จะต้องเสียค่าบริการในกี่ดูคลิปสอน

โดยจะมีส่วนแบ่งเข้าทางเว็บที่ให้บริการ กับทางผู้สอนที่ทำคอร์สออนไลน์นั้นเอง นอกจากจะอัดคลิปแล้ว อาจต้องทำแบบทดสอบประกอบการสอนอีกด้วย เรียกได้ว่า เหมือนเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนคนหนึ่ง  แต่นักเรียนที่มาเรียนนั้น คือคนจากทุกอาชีพ หลากหลายวัย และมาจากทั่วประเทศหรือทั่วโลก ซึ่งจะเข้ามายังแพลตฟอร์มที่รวบรวมบทเรียนจากเหล่าติวเตอร์ออนไลน์เอาไว้ เช่น coursesquare.co, skilllane.com, taladpanya.com และ udemy.com

Influencer

เรียกได้ว่าเป็นขั้นต่อไปของ นักเขียนบทความออนไลน์ หรือ นักรีวิวระดับโปร เนื่องจาก Influencer หมายถึง ผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ เป็นกลุ่มหรือบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ บุคคลเหล่านี้จะสร้างตัวจากการเป็นนักรีวิว เขียนบทความ หรือทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ เช่น Facebook, Youtube, Blog, Twitter หรือเว็บไซต์ของตัวเอง

อาชีพยุคดิจิทัล

หากคอนเทนต์มีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์ ก็จะเริ่มมีผู้ติดตามเข้ามา จนพอมีจำนวนมาก ก็มีโอกาส “ชักจูง” ผู้กลุ่มผู้ติดตาม ให้เชื่อในคอนเทนต์ที่สร้างและเกิดความคล้อยตามได้เลย จึงเป็นเหตุให้หลาย ๆ แบรนด์สินค้า นิยมจ้าง Influencer ให้ช่วยทำคอนเทนต์โปรโมทขายสินค้าทั้งแบบตรงหรือแบบอ้อม โดยขอยืมพลังของ Influencer ที่สามารถชักจูงกลุ่มผู้ติดตาม ให้กลายเป็นลูกค้าของแบรนด์นั้น ๆ ในอนาคต

นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer)

สำหรับอาชีพนี้ ต้องเป็นคนวัยทำงาน และมีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องสามารถคิดวิเคราะห์ และคาดเดาผลลัพธ์จากวางแผนการตลาดที่กำลังดำเนินได้ การตลาดในโลกออนไลน์ ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น และรู้จักใช้สื่อออนไลน์ อาทิ Facebook, Google, Youtube และการลงโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ สามารถสร้างการรับรู้สินค้าของแบรนด์ ไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายได้ และไม่เพียงทำยังไงก็ได้ให้ผู้บริโภคสนใจเท่านั้น ยังต้องเข้าใจผู้บริโภคด้วย

วาดสติ๊กเกอร์ Line

เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการวาดภาพหรือความคิดสร้างสรรค์พอควร โดยหลังจากที่ Line หรือแอพฯ ส่งข้อความชื่อดัง เปิดโอกาสให้นักวาดทั่วไป สามารถออกแบบสติ๊กเกอร์ประกอบข้อความไปขายในระบบได้ จึงกลายอาชีพเสริมยอดนิยม ที่หลายคนหาเวลาว่างไปนั่งออกแบบสติ๊กเกอร์ Line ของตัวเองให้ครบ 40 รูปแบบ

จากนั้นก็ส่งไปให้ทาง Line พิจารณา เมื่อผ่านเกณฑ์ ก็จะได้รับสิทธิ์ในการนำสติ๊กเกอร์ Line ไปขาย จากนั้นก็รอรับผลตอบแทนในระยะยาว โดยคิดเป็นรายได้จากราคาขายเกือบครึ่ง จากคนที่ดาว์นโหลดซื้อสติ๊กเกอร์ที่ออกแบบเอง ยิ่งมีคนซื้อเยอะ ก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมากขึ้น

ช่างภาพขายภาพออนไลน์ (Stock Photographer)

หลังจากสมาร์ทโฟนได้รับการพัฒนาจนสามารถถ่ายรูปได้สวยเทียบเคียงกับกล้องจริง ๆ ทำให้ทุกคนสามารถเป็นช่างภาพเฉพาะกิจกันได้ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการหารายได้จากการขายภาพออนไลน์ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของช่างภาพยุคใหม่ ที่ไม่ต้องไปหาลูกค้า ทำสัญญา เสนอราคา หรือโปรโมทตัวเองให้วุ่นวาย

อาชีพยุคดิจิทัล

เพียงแค่มีภาพสวย ๆ ที่สื่อความหมายได้ในสมาร์ทโฟน หรือกล้องถ่ายรูป จากนั้นก็ไปสมัครเว็บที่รับเป็นตัวแทนขายภาพออนไลน์อย่าง Microstock ทั้งหลาย ที่เหลือก็รอเงินโอนเข้าบัญชีหลังมีคนมาซื้อ

อย่างไรก็ตาม อาจดูเหมือนง่าย ทว่าอาชีพช่างภาพออนไลน์ ก็ต้องใช้ทั้งฝืมือและความอดทนอยู่เหมือนกัน เพราะต้องใช้เวลาไม่น้อย กว่าจะได้กำไรจากภาพที่ขายบนเว็บ และต้องใช้ทักษะเพื่อให้ทางเว็บยอมรับภาพไปขายได้ กับให้ลูกค้าที่เข้ามาเลือกภาพในเว็บ ยอมซื้อภาพของเรา จากคู่แข่งนับแสนนับล้านทั่วโลก

รับจ้างทำ SEO

ปัจจุบันเวลาเราเกิดข้อสงสัยอะไร สิ่งที่ทำอย่างแรกคือ ถาม Google เพียงใส่คำค้นหาที่ต้องการ ก็จะมีคำตอบปรากฏขึ้นมาใน “หน้าแรก” ทันที ตรงนี้เองจึงเป็นจุดที่ถูกนำมาใช้ในแผนการตลาดออนไลน์ ด้วยหัวข้อง่าย ๆ ว่า ทำยังไงก็ได้ ให้ชื่อสินค้าหรือบริการของแบรนด์นั้น ๆ มาอยู่ในหน้าแรกของ Google ให้ได้ สำหรับวิธีนั้น ก็มีหลากหลายรูปแบบ

จึงเกิดผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ นักรับจ้างทำ SEO หรือ Search Engine Optimization  ซึ่งคนที่ทำอาชีพนี้ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ SEO และพอรู้ว่า Google มีวิธีการค้นหาและแสดงผลอย่างไร ที่จะดันให้ชื่อเว็บของแบรนด์ที่รับจ้างมาปรากฏในหน้าค้นหาหน้าแรกของ Google ได้ โดยไม่ถูกเบียดจากแบรนด์คู่แข่ง อาจเรียกได้เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะพอ ๆ กับ Digital Marketing แต่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงกว่า

เกมเมอร์

เกมเมอร์ที่สามารถหารายได้จากการเล่นเกมจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ นักกีฬา E-Sport กับ Games Caster สำหรับ นักกีฬา E-Sport ก็จะเหมือนกันนักกีฬาจริง ๆ แต่เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่แข่งขันด้วยวิดีโอเกมประเภทต่าง ๆ อาทิ เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้ เป็นต้น

โดยประชันทักษะการควบคุมของผู้เล่นที่เป็นคู่แข่ง ส่วนการแข่งก็มีเงินรางวัล มีถ้วยรางวัลให้เหมือนนักกีฬาของจริง แต่กว่าจะมาถึงจุดที่เข้าร่วมแข่งขันได้ ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก และอาจต้องมีสโมสรรองรับ เพื่อคอยผลักดันไปยังสนามแข่งต่าง ๆ  ได้

ส่วน Games Caster จะเป็นการอัดคลิปวิดีโอการเล่นเกมของตัวเอง  โดยระหว่างการเล่นก็มีบรรยายความรู้สึกไปด้วยขณะเล่น อย่างการแสดงความคิดเห็น  การวิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ในเกม การแปลเนื้อเรื่อง รวมถึงการสร้างอารมณ์ขันเพื่อเป็นสีสันให้คนดู ส่วนนี้จะคล้าย ๆ กับ Influencer คือเหมือนเป็นการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งหากถูกใจคนดู ก็จะเกิดเป็นกลุ่มผู้ติดตามภายหลังได้

จากนั้นก็จะมีแบรนด์สินค้าหรือผู้สนับสนุนมาขอให้ช่วยโฆษณาในที่สุด แต่ทั้งนี้ยังมีการหารายได้อีกรูปแบบคือ การถ่ายทอดสดขณะเล่นเกม ผ่านแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนดู สามารถบริจาคหรือส่งเงินสนับสนุน Games Caster ได้ โดยที่ดัง ๆ เลยคือ Twitch ซึ่งจะมีคนเข้ามาบริจาคมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม และความเป็น Influencer ของ Games Caster นั้นเอง

ขายของออนไลน์

ปิดท้ายด้วยอาชีพที่ใคร ๆ ก็ทำได้ และเป็นที่นิยมมากที่สุดอย่างขายของออนไลน์ จากเมื่อก่อนต้องมีหน้าร้าน ถึงจะขายของได้ แต่หลังมีอินเทอร์เน็ต กับบริการเครือค่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง Facebook ก็ช่วยให้เรามี “หน้าร้านออนไลน์” แทน ไม่ต้องมีหน้าร้านจริง ๆ ที่ใช้งบลงทุนมากมายอีกต่อไป

ขอเพียงเรามีของที่จะขาย กับรู้จักใช้บริการขนส่งของในประเทศอย่าง EMS, Kerry, TNT ก็พอแล้ว ปัจจุบันนอกจาก Facebook ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่ช่วยให้เหล่าพ่อค้าหรือแม่ค้าออนไลน์ สามารถนำของไปขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกัน อาทิ LnwShop, Shopee, Lazada, kaidee, Pinkoi และอื่น ๆ ทั้งหมดถือเป็นแพลตฟอร์มใหม่ ที่ช่วยให้มีหน้าร้านออนไลน์ง่ายขึ้นกว่าเดิม

เห็นอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าใครจะอยากทำอาชีพไหนก็ทำได้เลย ทุกอย่างต้องมาจากความอยากที่จะทำมันจริง ๆ พร้อม ๆ กับเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็น Digital Skill เพื่อนำพัฒนาต่อยอดในสิ่งที่ตนเองอยากทำ ทั้งนี้ การพัฒนาย่อมต้องเกิดจากการมีแรงบรรดาลใจอันเข้มแข็ง

ELEADER จึงอยากเรียนเชิญร่วมงานสัมมนา เพื่อจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่เกิดแนวคิดที่จะพัฒนา Digital Skill ของตนเอง ภายในงาน Digital skill & Future Job เยาวชนไทยต้องปรับตัวให้ทัน ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์ประชุมแห่งชาติศิริกิติ์