AI

Microsoft เผยความพร้อม และปัจจัยขับเคลื่อนการใช้งาน AI ในภาคธุรกิจไทย บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในระบบคลาวด์อัจฉริยะ ที่พร้อมตอบโจทย์การใช้งานจริง ที่พร้อมปรับเปลี่ยน และเล่นตามกฏหมายคุ้มครองข้อมูล

ไมโครซอฟท์ เผยความพร้อม AI ในภาคธุรกิจไทย

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ดึงสองผู้พัฒนาโซลูชั่น เอไอ ชั้นนำสำหรับภาคธุรกิจ บริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด และ บริษัท ฟรอนทิส จำกัด แสดงศักยภาพในการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในสังคม

ทั้งการเก็บอัตลักษณ์บุคคลและการตอบคำถามด้วยบอทอัจฉริยะ ตอกย้ำถึงความพร้อมในการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ทันที ด้วยชุดเครื่องมือครบครันบนแพลตฟอร์มไมโครซอฟท์ อาซัวร์ คลาวด์ระดับโลกที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ที่สุด

AI
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

40% ของกระบวนการ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ภายในปี 2562 จะมี เอไอ เข้ามามีบทบาทสนับสนุนด้วย และในปี 2563 ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีองค์กรถึง 85% ที่นำ เอไอ มาประยุกต์ใช้งาน

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วันนี้โลกได้ก้าวมาถึงยุคแห่ง ระบบคลาวด์ ที่ฉลาดมากขึ้น (Intelligent Cloud) และก้าวสู่การประมวลผลอันชาญฉลาด (Intelligent Edge) สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือการถ่ายทอดความสามารถของเทคโนโลยี

ที่สามารถใช้คลาวด์เชื่อมโยงสู่ดีไวซ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้ทุกระดับสามารถใช้งานร่วมกันได้ในชีวิตประจำวัน เราเชื่อว่าในอนาคตแอปพลิเคชันกว่า 50% ในตลาด จะนำ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มาผนวกเพื่อใช้งานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในสิ้นปี 2561 นี้ ส่วนการใช้บอท และ เอไอ ติดต่อสื่อสารกับลูกค้านั้น

มีแนวโน้มที่จะแพร่หลายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจคิดเป็นอัตราส่วนถึง 95% ของการสนทนากับลูกค้าในปี 2568 ทั้งนี้ เพื่อที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเราได้มุ่งพัฒนาเพื่อเสริมให้ทุกผลิตภัณฑ์และบริการมี เอไอ อัจฉริยะ มาอำนวยความสะดวกและเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับผู้ใช้

AI

ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอไอเดียการพรีเซนต์รูปแบบใหม่ๆให้ผู้ใช้ใน PowerPoint การเสนอแนะแนวทางการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลดิบที่ผู้ใช้กรอกใน Excel หรือฟังก์ชันการเสนอแนะแนวทางการทำงานในด้านต่างๆ ของธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานขาย ปฏิบัติการ หรือบริการลูกค้า ใน Dynamics 365

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแพลตฟอร์ม เอไอ และคลาวด์ที่เปิดกว้าง พร้อมสนับสนุนให้ทุกแนวคิดและจินตนาการของนักพัฒนากลายเป็นความจริง ทั้งในระดับของ เอไอ ที่ทำงานเพื่อมนุษย์ ทำงานแทนมนุษย์ หรือช่วยตัดสินใจให้มนุษย์ ด้วยชุดเครื่องมือ

และบริการมากมายบนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ที่รองรับการพัฒนาโซลูชั่น เอไอ หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ฟังก์ชันอัจฉริยะแบบสำเร็จรูป ไปจนถึงโครงสร้างด้านข้อมูลและ เอไอ ที่รับรองมาตรฐานต่างๆ มากมายสำหรับนักพัฒนาทุกกลุ่ม และทุกระดับในตลาด

ข้อมูล-บุคลากร-ความเข้าใจ สามปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อน AI ให้แพร่หลาย

นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มต่างๆ แล้ว ความแพร่หลายในการใช้งาน เอไอ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอีกสามประการ ได้แก่

  • ทรัพยากรข้อมูล : กลไกและแนวทางในการค้นหา คัดเลือก และจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มากมาย
  • บุคลากร : ความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์หรือประยุกต์ใช้ข้อมูลในรูปแบบที่เกิดประโยชน์กับองค์กร ผู้ใช้งาน หรือสังคม
  • ความเข้าใจ : นอกจากทักษะและความเข้าใจเชิงเทคนิคของผู้พัฒนา เอไอ เองแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจในเทคโนโลยี AI และความมั่นใจในประสิทธิภาพหรือความแม่นยำของระบบก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมนี้เช่นกัน

ประเด็นด้านความเข้าใจของสังคมที่มีต่อเทคโนโลยี เอไอ ถือเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อย

นอกจากแง่มุมด้านเทคโนโลยีแล้ว การใช้งาน เอไอ อย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการวางมาตรฐานที่ชัดเจนในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสในการทำงาน และความรับผิดชอบของผู้พัฒนา เป็นต้น

โดยการพัฒนา เอไอ จะต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมให้มนุษย์สามารถทำงานได้ดีขึ้น มากขึ้น หรือทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่มนุษย์แต่อย่างใด

2 บริษัทฯ ที่ปรึกษา และพัฒนา ร่วมแสดงความพร้อมของ เอไอ ในไทย

AI
จิดาภา วัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด

จิดาภา วัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด กล่าวว่า การเริ่มต้นนำระบบ AI มาใช้งานในเชิงธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะโซลูชั่น CUBIK Chat ของเรา สามารถพัฒนาให้พร้อมใช้งานจริงได้ในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น

โดยแชทบอทในรูปแบบนี้สามารถจัดการกับคำถามจากลูกค้าได้ในปริมาณที่มากกว่ามนุษย์นับสิบเท่า ตอบโต้กับคู่สนทนาด้วยภาษาไทยผ่านระบบ Natural Language Processing (NLP) รองรับการทำธุรกรรมหลายรูปแบบ เช่นการชำระค่าบริการ สั่งซื้อสินค้า หรือจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก เป็นต้น

ทั้งยังสามารถส่งคำถามต่อให้กับเจ้าหน้าที่ในศูนย์บริการลูกค้ามารับช่วงได้อย่างไร้รอยต่อ คุณสมบัติเหล่านี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มยอดขาย ส่วนตัวบอทเองก็ยังมีระบบ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถ

ได้จากข้อมูลการตอบโต้กับลูกค้าในสถานการณ์จริง ซึ่งเปรียบเสมือนวัตถุดิบสำหรับฝึกฝนบอทต่อไป โดยโซลูชั่น CUBIK Chat ของดิจิตอล ไดอะล็อก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เช่นในกรณีตัวอย่างของแชทบอทภายในองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานของแผนกทรัพยากรบุคคล

สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำในระดับรายบุคคล เช่นการแนะนำวันลาพักร้อนในช่วงที่เหมาะสม หรือการแจ้งเตือนหมดเขตสวัสดิการพนักงานเป็นต้น นอกจากนี้ ดิจิตอล ไดอะล็อก ยังเป็นผู้พัฒนาแชทบอท ฟ้า ให้กับการบินไทย เพื่อคอยตอบข้อซักถามจากลูกค้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์อีกด้วย

เทคโนโลยี เอไอ และบอทจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กร พนักงาน และลูกค้า มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนสามารถเป็นผู้ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น โดยแต่ละองค์กรสามารถปรับแต่ง เอไอ ให้เข้ากับรูปแบบการทำงานของตนเองได้อย่างลงตัว

AI
“น้องฟ้า” แชทบอทที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถามและข้อสงสัยของลูกค้า

ส่วน บริษัท ฟรอนทิส จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทฯ ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ (Strategy Consulting) และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กร (Digital Transformation) ได้จัดแสดงตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี Cognitive Services บนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์

ที่ช่วยนำมาพลิกโฉมองค์กรด้วย เอไอ เช่นการสแกนและเปรียบเทียบพิกัดสามมิติบนใบหน้าของพนักงานเพื่อควบคุมการเข้าออกและรักษาความปลอดภัยในอาคารของบริษัท

การใช้ เอไอ จดจำใบหน้าของลูกค้าคนสำคัญและใช้ Predictive Analytics เพื่อเสนอสินค้าที่โดนใจ รวมทั้งการยืนยันตัวตนขณะเข้าใช้บริการจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น

AI
ปริญญ์ บุญดีสกุลโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรอนทิส จำกัด

ด้าน ปริญญ์ บุญดีสกุลโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรอนทิส จำกัด กล่าวว่า  โลกยุคดิจิทัลกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคของมือถือ (Mobile First) และคลาวด์ (Cloud First) สู่ยุคที่ เอไอ จะมีบทบาทในทุกนาทีของชีวิต (เอไอ First World) 

โดย Cognitive Services เปิดโอกาสให้ เอไอ สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น การจดจำใบหน้า (Face Recognition) เพียงอย่างเดียวอาจนำไปใช้เสริมสร้างความสะดวก ความปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพในหลายอุตสาหกรรมม่ว่าจะเป็น การยืนยันสิทธิการเข้าถึงบริการหรือระบบต่างๆ

หรือแม้แต่อำนวยความสะดวกในการมอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิก และลูกค้าประจำของร้านค้า เป็นต้น นอกจากนี้ การจดจำใบหน้ายังสามารถทำได้โดยไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ โดยระบบของเราจะเลือกบันทึกเฉพาะพิกัดที่สแกนจากใบหน้าเท่านั้น แทนที่จะบันทึกภาพถ่ายใบหน้าทั้งภาพ

และยังมีการล้างฐานข้อมูลใบหน้าออกภายใน 24 ชั่วโมง ควบคู่กับมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อป้องกันการรั่วไหลอีกด้วย

แค่ใช่ไม่พอต้องใส่ใจกฏระเบียบด้วย

การเริ่มบังคับใช้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ของสหภาพยุโรปในวันนี้ (25 พฤษภาคม) ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทั้งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบุคคลหรือองค์กรจากชาติกลุ่มดังกล่าว

ดังนั้น องค์กรทั่วโลกที่มีลูกค้าในชาติสหภาพยุโรปหรือต้องทำธุรกรรมกับธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้จึงจำเป็นต้องปฏิบัติงานตามกรอบข้อบังคับของ GDPR ซึ่งนับตั้งแต่การรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อสองปีก่อน ไมโครซอฟท์ได้มอบหมายให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,600 คน

ลงมือทำงานเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐาน GDPR อย่างเคร่งครัด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และแพลตฟอร์มต่างๆ ของไมโครซอฟท์พร้อมรองรับความต้องการของทุกองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจภายใต้กรอบของGDPR

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังพร้อมที่จะขยายสิทธิพื้นฐานหลักในกฎหมายฉบับนี้ให้กลายเป็นสิทธิของผู้ใช้และลูกค้าทุกคนทั่วโลก โดยลูกค้าจะได้ทราบถึงข้อมูลที่ไมโครซอฟท์เก็บจากการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการของเรา และสามารถแก้ไข ลบ หรือถ่ายโอนข้อมูลทั้งหมดไปจัดเก็บที่อื่นได้โดยอิสระ

ฟังก์ชันการตรวจสอบ แก้ไข ลบ และโยกย้ายข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดนี้ สามารถเรียกใช้งานได้ทางแดชบอร์ดความเป็นส่วนตัว (Privacy Dashboard) ที่เว็บไซต์ https://account.microsoft.com/privacy/ ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการในการรองรับ GDPR และเครื่องมือช่วยเหลือสำหรับองค์กรที่ต้องการปฏิบัติงานตามกรอบข้อบังคับใหม่นี้ สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.microsoft.com/GDPR/

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่