โลกอนาคตกับปัญญาประดิษ
โลกอนาคตกับปัญญาประดิษฐ์ (AI)  โดยหากพูดถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มาแรงที่สุดในยุคนี้ คงต้องยอมรับว่าปัญญาประดิษฐ์ คือเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างมากในหลาย ๆ ธุรกิจ โดยมีแนวโน้มว่าจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานและการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัล

Eleader มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.ศิษฏพงศ์ เศรษฐภัทร Head of Data Analytics กลุ่มบริษัทจีเอเบิล. เกี่ยวกับโลกอนาคตกับปัญญาประดิษฐ์ อะไรจะเปลี่ยนแปลง หากเทคโนโลยีฉลาดเขา ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า

AI นั้นเป็นแนวคิดที่มีมานานมาก และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาหลายสิบปีเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นความชาญฉลาดที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยมีคุณลักษณะทางด้านสติปัญญาและความฉลาดคล้ายคลึงกับมนุษย์ จุดเด่นที่มีคือความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง คิด วิเคราะห์ และ แยกแยะข้อมูลที่ซับซ้อนได้

โลกอนาคตกับปัญญาประดิษฐ์
ดร.ศิษฏพงศ์ เศรษฐภัทร Head of Data Analytics กลุ่มบริษัทจีเอเบิล

ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจน คือเทคโนโลยี AI จาก Open AI ของ Elon Musk จาก Tesla และ Sam Altman จาก Y Combinator ที่เอาชนะผู้เล่นมืออาชีพในการแข่งขันเกม Dota 2 แบบผู้เล่น 1 ต่อ 1 ภายใน 10 นาทีแรก

หัวใจสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี AI สามารถเอาชนะเกมการเเข่งขันที่ซับซ้อน อย่าง AlphaGo เเละ Dota 2 คือการให้เทคโนโลยี AI ศึกษารูปแบบการเล่นของผู้เล่นมืออาชีพคนอื่น ๆ หรือเล่นเกมแข่งกับตัวเองครั้งเเล้วครั้งเล่าจนระบบสามารถเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ รวมถึงการวางแผนกลยุทธ์

เช่นเดียวกับปัจจุบันหลาย ๆ อุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยทำงาน อาทิ โลจิสติกส์ การแพทย์ การบริการ ธนาคาร และ E-Commerce ซึ่งเมื่อ AI ถูกพัฒนาให้ฉลาด และมีความคิด วิเคราะห์ที่ซับซ้อนขึ้นมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีความสำคัญในอนาคต วันนี้ผมจึงหยิบเทคโนโลยี AI ที่ทุกธุรกิจควรรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ดังต่อไปนี้

สร้างระบบเรียนรู้ข้อมูลและทำนายข้อมูล ด้วย Machine Learning และ Big Data Platforms คือการเพิ่มศักยภาพในการประมวลผล เรียนรู้ และทำนายผลของข้อมูล เนื่องจาก AI จำเป็นต้องใช้การเรียนรู้ผ่านข้อมูลต่าง ๆ ยิ่งมีข้อมูลเพื่อใช้ในการสอน AI มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถสร้าง AI ที่ฉลาดขึ้นได้มากเท่านั้น

อุปกรณ์พิเศษเพื่อการประมวลผลเฉพาะทาง สำหรับ AI (AI-optimized Hardware) นอกจาก Big Data แล้ว Machine Learning หรือ AI บางประเภทจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในการประมวลผลจำนวนมาก การนำฮาร์ดแวร์พิเศษที่ถูกออกแบบมาให้มีหน่วยประมวลผลจำนวนมาก เพื่อลดระยะเวลาในการประมวลผลลงได้จึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะมาช่วยให้ AI นั้นสามารถนำมาใช้งานจริงได้

เช่น ระบบตรวจจับใบหน้าแบบ Real-time จำเป็นต้องมีระบบที่วิเคราะห์ และประเมินภาพจำนวนมาก การนำ Graphics Processing Units (GPU) มาใช้เพื่อให้ระบบสามารถตรวจจับใบหน้าได้ทันเวลาก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็น โดยในปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิต Graphics Card ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์พิเศษเพื่อนำมาตอบโจทย์ด้าน AI โดยเฉพาะ

ใช้เป็นผู้ช่วยตัดสินใจ ทำเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย (Decision Management) การโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ทำงานตามกฎที่เราตั้งไว้คือความสามารถพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ แต่เทคโนโลยี AI สามารถนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจเพื่อหาทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด มีความเสี่ยงน้อยที่สุดหรือใช้เวลาน้อยที่สุดได้ หรือเรียกว่าการค้นหาทางเลือกที่ Optimize ที่สุดบนข้อมูลที่มีอยู่

การนำเทคโนโลยี AI ประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเราตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ และมีข้อมูลที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจจำนวนมากคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ AI หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำ Personalized Marketing หรือ ระบบแนะนำสินค้าของแต่ละบุคคลนั้น

เสริมพลังการแยกแยะ ด้วย Deep Learning ณ เวลานี้ทุกคนคงเข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์ของ Machine Learning แต่ถ้าเราสามารถสร้างระบบที่มีความซับซ้อนเพื่อใช้ในการจำแนก แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้ก็จำเป็นต้องออกแบบ AI ตามวิธีการทำงานของสมองมนุษย์ หรือเรียกว่า Artificial Neural Network (ANN) ที่มีความซับซ้อนสูงมาก

โดยเราสามารถนำ Deep Learning มาใช้ในการสร้างระบบแยกแยะสิ่งของหรือใบหน้า ระบบแยกแยะหรือจดจำเสียงได้ เป็นต้น

ระบุตัวต้น ด้วย AI การระบุตัวตนด้วยไบโอเมทริกซ์ ยกตัวอย่างเช่น ม่านตา เสียง ลายนิ้วมือ หน้า หรือภาษากาย เป็นต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยี AI ที่ใช้ไบโอเมทริกซ์ในการจดจำรูปแบบ และแยกแยะเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนหรือระบุตัวตน

รู้จักภาษาที่มนุษย์ใช้ ด้วยระบบประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) คือเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้เราสามารถปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ  เทคโนโลยี NLP จะทำการวิเคราะห์คำสั่งหรือความต้องการของผู้ใช้ผ่านภาษาธรรมชาติ

โลกอนาคตกับปัญญาประดิษฐ์

อาทิ Google นำ NLP มาช่วยให้การค้นหาเอกสารใน Google Drive ได้อย่างสะดวกและแม่นยำขึ้น เช่น หากเราต้องการค้นหาเอกสารที่มาจาก Anissa เราสามารถพิมพ์คำสั่งว่า “Show Me Documents From Anissa” เพื่อค้นหาหรือเข้าถึงเอกสารที่เราต้องการได้เลย

นอกจากนี้ NLP ยังครอบคลุมถึงความสามารถในการสร้างรูปประโยคธรรมชาติ เพื่อใช้ในการตอบสนองกับผู้ใช้งานเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถ ตอบโต้กับระบบได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น Siri สามารถสร้างประโยคเพื่อตอบคำถามที่เราถามได้

ตอบโต้ด้วยเสียง จากระบบรู้จำและสังเคราะห์เสียงพูด (Speech Recognition and Synthesis) เรียกได้ว่าเป็นอีกระบบที่สามารถทำงานร่วมกับระบบ NLP เพื่อให้เราสามารถตอบโต้กับคอมพิวเตอร์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการพิมพ์ค้นหาเอกสาร คงจะดีกว่าถ้าเราสามารถพูดว่า “ค้นหาเอกสารที่ส่งมาจากคุณวันชัย เมื่อวานให้หน่อย” หลังจากนั้นระบบก็สามารถสร้างเสียงเพื่อโต้ตอบกับเราได้ เช่น Siri สามารถฟังคำสั่งของเราผ่านการพูดได้ และตอบสนองสิ่งที่เราต้องการผ่านการสร้างรูปประโยคที่ต้องการ โดยพูดประโยคนั้นให้เราได้ยินได้อีกด้วย

เข้าถึงทุกบริการ ด้วยผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Agents) คือเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงคลังความรู้หรือบริการต่าง ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ เช่น Siri สามารถเข้าถึงและเข้าใจตารางงาน อีเมล ปฏิทิน นาฬิกา ใน Smart Phone ของเรา หรือ Alexa สามารถเข้าถึงบริการของ Amazon หรือ Smart Home Device ของเราได้

ด้วยความสามารถในการเข้าใจความต้องการของมนุษย์ และความสามารถในการค้นหาบริการ เพื่อตอบสนองสิ่งที่เราต้องการได้ถือเป็นหัวใจของระบบผู้ช่วยเสมือนจริง หรือที่ทุกวันนี้เรารู้จักผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า Chatbot

ทั้งหมดนี้คืิอ โลกอนาคตกับปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ ไป หลายอาชีพอาจถูกแทนที่ด้วย AI แต่ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะประโยชน์ของมันมากมายมหาศาลยิ่งนัก